ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันเรามีประชากรกว่า 68 ล้านคน จัดอยู่ประมาณลำดับที่ 21 ของโลกหากอิงจำนวนประชากร

คนของเราราว 13% มาแย่งกันอยู่ แย่งกันเรียน และทำมาหากินในเขตเมืองหลวงและปริมณฑล อัตราส่วนเพศชายมีน้อยกว่าเพศหญิงนิดหน่อย หากไม่นับทางพฤตินัย คาดการณ์กันว่า อีก 10 ปีถัดจากนี้ เราจะมีประชากรรวมลดลงเรื่อยๆ เมื่ออัตราการเกิดน้อยกว่าการตาย

และราวปี ค.ศ.2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรของเราจะหายไปราว 400,000 คน

ปี พ.ศ.2558 สำนักงานสถิติแห่งชาติเค้าสำรวจพบว่า แต่ละครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 27,000 บาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 21,000 บาทกว่าๆ แต่อย่าเพิ่งดีใจไป ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดติดหนี้สิน โดยมีหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 150,000 บาท โดยสาเหตุหลักของการเป็นหนี้สินคือจากการอุปโภคบริโภคหรือการกินการจับจ่ายใช้สอยสินค้าหรือบริการนั่นแหละ แม้จำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้จะค่อยๆ ลดลงในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่จำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้น

ดูตัวเลขแล้วมึน สรุปสถานการณ์แบบบ้านๆ เป็นอย่างไร ลองดูไหม?

หนึ่ง ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เรามีนโยบายคุมกำเนิดได้ผลดีมาก จนอัตราเกิดลดลงเรื่อยๆ แถมผนวกกับผลของการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางประชากรและวิถีชีวิตที่เป็นไปแบบตะวันตกมากขึ้น ก็ยิ่งเห็นชัดเจนว่านอกจากอัตราเกิดลดลงแล้ว ขนาดครอบครัวก็ลดลง ภาวะโสดและหย่าร้างมีสัดส่วนที่สูงขึ้น

สอง คนมีการศึกษาดีมีแนวโน้มหาลู่ทางไปอยู่ต่างประเทศ ในขณะที่คนต่างด้าวการศึกษาไม่ดีมีแนวโน้มหาทางอพยพมาอยู่บ้านเรา

สาม คุกล้น...คดีอาชญากรรมทั้งวัยผู้ใหญ่และวัยเด็กมากมายมหาศาล ท่ามกลางระบบอำนวยความยุติธรรมที่ไม่ทันต่อสมัย บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ จนเราเห็นข่าวเด็กล้อมรถจนโดนลูกตะกั่ว ตลอดจนมาเฟียสี่แยกเอาน้ำและผ้าสกปรกมารุกรานรถยนต์ประชาชนเพื่อรีดไถเงิน แล้วสุดท้ายก็แค่โดนปรับเล็กน้อยแล้วปล่อยตัวไป ยังไม่นับข่าวครึกโครมที่สะเทือนสังคม วัยรุ่นมีกะตังขับชนคนตายมากมายแต่สุดท้ายไม่ติดคุก เพราะคนมีเงินย่อมมีลู่ทางหลุดเสมอ

สี่ ท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นมากมายมหาศาล แก้ไขไม่เคยได้ผลตามที่หวัง วาเลนไทน์ทีเห็นแต่มาตรการเดิมๆ ดักตรวจตามม่านรูด แต่สุดท้ายอีกไม่กี่เดือนก็จะมีข่าวทำแท้งหลากหลายรูปแบบตามมา ที่หลุดรอดไปก็มาตอนปลายปีที่จะเห็นคลอดกันเป็นแถว กลุ่มเหล่านี้ตอนท้องก็มักเป็นไปแบบหลบๆ ซ่อนๆ ตามมีตามเกิด เพราะกลัวพ่อแม่รู้แล้วดุด่าว่ากล่าว ไม่กล้าไปฝากท้องตามสถานพยาบาล ทำให้การตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดปัญหาต่างๆ เช่น ทุพโภชนาการ การคลอดผิดปกติ ปัญหาเด็กพิการจากการขาดสารอาหารที่จำเป็น ฯลฯ

ห้า ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกทีๆ รายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นแต่เทียบไม่ได้กับค่าใช้จ่าย ท่ามกลางระบบสาธารณูปโภคที่ถูกกินรวบโดยกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม แถมเขมือบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จนสามารถควบคุมกลไกการตลาดแบบซ้ายหันขวาหันได้หมด อำนาจการต่อรองของประชาชนแทบเป็นศูนย์

หก โครงสร้างพื้นฐานในการเพาะบ่มคนให้มีความรู้ ทัศนคติ ทักษะ และอุปนิสัยที่ดีก็อ่อนยวบยาบ ไม่ว่าจะเป็นระดับครอบครัวที่ต้องปากกัดตีนถีบในกลุ่มยากจนและชนชั้นกลางระดับล่าง หรือเอาแต่ทำงาน คิดทำอย่างไรให้มีเงินมากๆ แต่ไม่เคยให้เวลาดูแลลูก เลี้ยงด้วยเงิน เลี้ยงด้วยปาก (บ่นแต่ไม่เคยทำเป็นตัวอย่างที่ดี) เลี้ยงด้วยคนรับใช้ จนทำให้เกิดประชากร 2 ประเภทมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ ประเภทกักขฬะแบบยากจน และกักขฬะแบบร่ำรวย

นอกจากนี้ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้งบประมาณชาติกว่า 5 แสนล้านต่อปี เงินหล่นตามรายทาง กลไกกำหนดสาระการเรียนรู้ การประเมิน การกำหนดวิทยฐานะ ตลอดจนระบบการสอบแข่งขันต่างๆ ล้วนแล้วแต่ทำให้เด็กมุ่งแต่การแข่งขัน ขาดชีวิตจิตใจ และขยายความเหลื่อมล้ำในสังคม เราคงเห็น "หุ่นยนต์" ที่ขาดจิตใจเดินกันเกลื่อนสังคมในปัจจุบัน  

นโยบาย "เร่งปั๊มลูก...แถมวิตามิน...เพื่อสังคมคุณภาพ" นั้น เห็นออกข่าวกันครึกโครม มีผู้หลักผู้ใหญ่ให้ข่าวแก่สาธารณะอย่างเมามันส์ หากพิจารณาให้ดี จะพบว่านโยบายนี้ถูกเข็นออกมาในลักษณะอยากยิงปืนนัดเดียวได้นกเป็นฝูง อยากให้ช่วยกันปั๊มลูกให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้จำนวนประชากรของประเทศเพิ่มมากกว่าที่จะสูญเสียจากการตายดังที่กล่าวมา อยากจะส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ได้วิตามินแร่ธาตุที่จำเป็นอย่างเพียงพอ (กรดโฟลิคและธาตุเหล็ก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เสี่ยงต่อการท้องไม่พร้อม หรือท้องไม่มีคุณภาพนั้น

ซึ่งเดาได้ว่าอยากได้ 2 เรื่องพร้อมกันคือ ให้มาฝากท้องตามระบบมากขึ้น และลดความพิการของเด็กทารก แต่การป่าวประกาศนโยบายดังกล่าวไป ผ่านสื่อสาธารณะแบบงานอีเวนท์นั้น อาจก่อให้เกิดภาวะไม่พึงประสงค์ตามมาได้อย่างคาดไม่ถึง อย่าลืมว่าสังคมเรามีคนหลากหลายประเภท คนที่มีสติปัญญาเพียงพอจะรู้ดีว่า "การมีลูกไม่ใช่เรื่องเล่นๆ" การมีลูก จำเป็นต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบที่พ่อแม่ต้องมี ทั้งในการปกป้องสิทธิเด็ก ดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของเค้า และเพาะบ่มอบรมให้เติบโตเป็นคนที่ดีมีคุณภาพ หากรู้ว่าลูกที่เกิดมาจะตกอยู่ในภาวะที่อันตราย ไม่ปลอดภัย พ่อแม่ก็จำเป็นต้องคิดถึงหนทางที่จะช่วยดูแลปกป้อง

การจะมีลูก ต้องมีความพร้อมจึงค่อยมี ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องตระหนักถึงผลกระทบจากการสร้างนโยบายต่างๆ มิใช่มองแค่เรื่องเฉพาะหน้า จำเป็นต้องบอก ต้องชี้นำสังคมว่า เมื่อใดที่เหมาะสมในการมีลูก หากยังมีข้อจำกัดด้านใด กลไกสังคมที่มีอยู่จะช่วยเหลือเช่นไร ประเทศพัฒนาแล้วเค้าจึงวางนโยบายอย่างรอบคอบ จะเพิ่มประชากร ก็จะควบคู่ไปกับมาตรการช่วยเหลือในการดูแลอย่างครบวงจร ทั้งค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู การศึกษา การรักษาพยาบาล และอื่นๆ ซึ่งนั่นย่อมสะท้อนถึงการทำงานแบบบูรณาการแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในสังคม ไม่ได้ชิงพื้นที่ข่าวแบบเอาผลงานสำหรับหน่วยใดหน่วยหนึ่ง

มิฉะนั้น อนาคตคงมีประชากรเพิ่มขึ้นในเชิงจำนวน แต่ปัญหาสังคมก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว คนน้อยแต่มีคุณภาพมากขึ้น...น่าจะดีกว่าคนล้นพื้นที่โดยมีแต่ปัญหาอาชญากรรม...

"เร่งปั๊มลูก...แถมวิตามิน...เพื่อสังคมคุณภาพ"...หยุดก่อนดีไหม สื่อสารให้ชัดเจน แก้ปัญหาให้ตรงจุด แยกแพะกับแกะออกจากกัน อย่ากังวลกับวาระผู้บริหาร แล้วประเทศจะดีขึ้น!

ผู้เขียน: ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย