ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘ปิยะสกล’ ชู เศรษฐกิจจะยั่งยืนได้ ประชาชนต้องมีสุขภาพดี ในเวทีประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเอเปคด้านสุขภาพและเขตเศรษฐกิจ ครั้งที่ 7 ณ นครโฮจิมินห์

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเอเปคด้านสุขภาพและเขตเศรษฐกิจ ครั้งที่ 7 (7th APEC High-Level Meeting on Health and the Economy) ณ นครโฮจิมินห์ ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างรัฐบาลของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ในระดับรัฐมนตรีสาธารณสุข เศรษฐกิจ และคลัง เพื่อหาวิธีเชื่อมต่อประเด็นด้านสุขภาพระหว่างเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค และเพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่ระดับสูงให้สนใจประเด็นสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ในการประชุมครั้งนี้ นพ.ปิยะสกล ได้นำเสนอประสบการณ์ของไทยเกี่ยวกับการปฏิรูปด้านการคลังสุขภาพสำหรับชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับรัฐมนตรีสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่อาวุโสของฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น จีนไทเป ปาปัวนิวกินี และอินโดนีเซีย ว่า ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการดำเนินการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ปี 2545 สามารถครอบคลุมคนไทยทุกคน ตั้งแต่การได้รับการบริการสุขภาพพื้นฐานที่จำเป็น การได้รับวัคซีน การดูแลสุขภาพมารดาและเด็ก การเจ็บป่วยทั่วไป และรวมถึงการผ่าตัดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีเช่น การผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับงบประมาณด้านสุขภาพ จะเห็นได้จากสัดส่วนงบประมาณสุขภาพที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพทำให้มีหน่วยบริการทางการแพทย์กระจายอยู่ทั่วประเทศ

นอกจากการลงทุนที่มีเพิ่มขึ้นแล้ว ประเทศไทยยังวางแนวทางการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า การมองหากลไกการเงินใหม่ที่จะสามารถมาสนับสนุนงานสุขภาพให้เพียงพอ เช่น การจัดตั้งกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพที่มีรายได้จากภาษีบุหรี่หรือสุรา นำมาพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพของประเทศ การตั้งกองทุนสุขภาพในชุมชนซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนและท้องถิ่น

นพ.ปิยะสกล ได้กล่าวย้ำว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยประสบผลสำเร็จในการปฏิรูปคือ การมีนโยบายทางการเมืองที่เข้มแข็งและยั่งยืน การมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาสังคมและการรู้สึกถึงเป็นเจ้าของ ความสงบภายในจากการประนีประนอมและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจากความสำเร็จด้านการค้าระหว่างประเทศซึ่งทำให้มีงบประมาณเพิ่มขึ้น ศักยภาพในการวิจัยด้านการคลังสุขภาพและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และที่ขาดไม่ได้ คือบุคลากรสุขภาพที่เสียสละทุ่มเท เพื่อดูแลประชาชนให้มีสุขภาพดี

ก่อนจะจบการเสวนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขฝากให้เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคร่วมมือกันพัฒนาหลักประกันสุขภาพ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยการแบ่งปันประสบการณ์ผ่านเครือข่ายต่างๆ เช่น เครือข่ายอาเซียนบวกสาม ให้มีการวิจัยร่วม และกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพ ทั้งนี้ เพื่อร่วมมือกันให้ประชาคมโลกสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน