ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบหนุนสภา กทม.ปรับกฎหมายให้อำนาจ กทม.เก็บภาษีท้องถิ่นค้าปลีกยาสูบเหมือนท้องถิ่นอื่นได้ ทำให้สูญเสียรายได้ถึง 615 ล้านบาทต่อปี ระบุนอกจากจะทำให้ กทม.มีรายได้เพิ่มขึ้นยังสามารถนำเงินมาช่วยป้องกันหรือช่วยคนสูบให้เลิกบุหรี่ได้ด้วย
ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ นักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีสุรา ยาสูบ และไพ่ เป็นกฎหมายลูก ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา ทำให้กรมสรรพสามิตได้ปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่จะเก็บภาษีทั้งตามปริมาณและมูลค่ารวมกัน โดยใช้ราคาขายปลีกตามท้องตลาดเป็นราคาหรือเกณฑ์อ้างอิง
หลักการคือ ทั้งผู้นำเข้าและโรงงานยาสูบ ไม่ว่าจะผลิตบุหรี่มวนเล็กหรือมวนใหญ่ออกมาขาย ต้องเสียภาษีมวนละ 1.20 บาทก่อน (เก็บภาษีตามปริมาณ) จากนั้นให้ใช้ราคาขายปลีกมาเป็นเกณฑ์อ้างอิง หากตั้งราคาขายปลีกสูงกว่า 60 บาท (เก็บภาษีตามมูลค่า) ต้องเสียภาษี 40% ของมูลค่า แต่ถ้ากำหนดราคาขายปลีกต่ำกว่า 60 บาท ให้เสียภาษีในอัตรา 20% ของมูลค่า เป็นเวลา 2 ปีนับจากวันที่มีผลบังคับใช้ หลังจากนั้นให้ปรับอัตราขึ้นเป็น 40%
“ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษียาสูบครั้งนี้เสมือนการปฏิรูปโครงสร้าง การนำยาเส้นพันธุ์พื้นเมืองที่เคยได้รับการยกเว้นภาษีมาเข้าระบบเป็นเรื่องที่สมควรทำนานแล้ว เพราะยาสูบไม่ว่าจะพันธ์อะไรก็มีผลเสียต่อสุขภาพทั้งนั้น การปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งนี้ทำให้บุหรี่ราคาถูกมีราคาสูงขึ้น จะช่วยป้องกันนักสูบหน้าใหม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันราคาบุหรี่พรีเมี่ยมอาจจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก จึงอาจจะไม่ส่งผลให้คนเลิกบุหรี่มากนัก”
ทพญ.ศิริวรรณ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามข้อมูลจาก รายงานการศึกษารายได้ที่กรุงเทพมหานครควรจัดเก็บ: ภาษีบำรุง กทม.จากการค้าปลีกยาสูบ ปี พ.ศ.2558 ระบุว่า การที่กทม.ไม่จัดเก็บภาษีท้องถิ่นมวนละ 10 สตางค์ทั้งที่พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ได้บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้ง กทม.อาจจัดเก็บภาษีการค้าปลีกยาสูบ แต่ กทม.ไม่มีบทบัญญัติให้ กทม.มีอำนาจในการจัดเก็บภาษีรายได้จากภาษีการค้าปลีกยาสูบ ทำให้ กทม.ไม่สามารถออกข้อบัญญัติจัดเก็บภาษีการค้าปลีกยาสูบได้ กทม.จึงสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้จากการเก็บภาษีท้องถิ่นยาสูบใน กทม.ถึง 615 ล้านบาทต่อปีซึ่งถือเป็นความสูญเปล่า
“จึงขอสนับสนุนให้สภา กทม.เดินหน้าแก้กฎหมายเพื่อให้ กทม.สามารถออกข้อบัญญัติเก็บภาษียาสูบได้ซึ่งนอกจากจะทำให้ กทม.มีรายได้เพิ่มขึ้นยังสามารถนำเงินมาช่วยป้องกันหรือช่วยคนสูบให้เลิกบุหรี่ได้ด้วย” ทพญ.ศิริวรรณ กล่าว
- 84 views