ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ค้านปล่อย รพ.เอกชน ทำธุรกิจอย่างเสรี “ภาคประชาชน” เรียกร้องรัฐแทรกแซงระบบ ออกกฎหมายควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้สมเหตุสมผล

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าวในเวทีเสวนาสภาผู้บริโภค ประเด็น “CSR ความรับผิดชอบต่อสังคมในโรงพยาบาลเอกชน” เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตอนหนึ่งว่า ทุกคนมีสิทธิป่วยและมีโอกาสล้มละลายทางการเงินจากการถูกเก็บค่ารักษาพยาบาลที่แพงมหาศาล แม้ว่าจะมีเงินหลักล้านแต่ถ้าป่วยเพียงครั้งเดียวอาจจะทำให้หมดตัวได้ จึงจำเป็นต้องมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ธุรกิจโรงพยาบาลหรือธุรกิจทางการแพทย์มีความแตกต่างออกไปจากธุรกิจทั่วไป เราคงไม่สามารถปล่อยให้การทำธุรกิจบนความเป็นความตายของทุกคนเป็นไปอย่างเสรีเหมือนกับธุรกิจทั่วไปได้ ส่วนตัวคิดว่าธุรกิจทางการแพทย์เป็นธุรกิจเชิงคุณธรรม ดังนั้นการปล่อยให้ทำกำไรกันอย่างสูงสุดโดยเสรีไม่มีขอบเขตจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

น.ส.สุภัทรา กล่าวอีกว่า ธุรกิจด้านพยาบาลจำเป็นต้องมีการแทรกแซงโดยรัฐหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะให้เกิดความสมเหตุสมผล ดังนั้นจึงอยากเสนอให้ภาครัฐเข้ามาแทรกแซงด้วยมาตรการทางกฎหมายและนโยบายที่จริงจัง

“แน่นอนว่าการทำธุรกิจต้องมีกำไร แต่ว่ากำไรนั้นต้องสมเหตุสมผล และอยู่ในฐานะที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงได้อย่างเสมอหน้ากัน และที่สำคัญถ้าเราปล่อยให้ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแพงมาก ย่อมกระทบต่อระบบโดยรวม” น.ส.สุภัทรา กล่าว

น.ส.สุภัทรา กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ความจำเป็นสำหรับทุกคน แต่อย่างไรก็ตามเราต้องยืนยันว่าจะไม่หันหลังกลับไปใช้ระบบสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ประเด็นคือทุกคนควรมีหลักประกันสุขภาพโดยรัฐจัดสรรให้ และประชาชนก็ได้ร่วมจ่ายกันไปก่อนที่จะป่วยแล้วผ่านระบบภาษี ดังนั้นนี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคนในผืนแผ่นดินนี้

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ถ้าต้องการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ โจทย์ข้อแรกก็คือต้องทำให้เกิดมาตรฐานเดียว หรือระบบเดียว กล่าวคือในอนาคตเวลาไปโรงพยาบาลจะต้องไม่มีการถามว่าใช้สิทธิอะไร หรือใช้บัตรอะไร เราควรจะยื่นบัตรประชาชนใบเดียวและได้รับคำถามว่าป่วยเป็นอะไรเท่านั้น

”ส่วนตัวคิดว่าหากรัฐเข้าไปดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลจะเท่ากับเป็นการอภิบาลระบบในภาพรวมด้วย เพราะหากรัฐไม่เข้าไปแทรกแซงจะเกิดความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า คนจนจะตายก่อน นี่คือความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้นต้องทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีความรับผิดชอบต่อสังคม” น.ส.สุภัทรา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘สภาผู้บริโภค’ จี้รัฐล้อมคอก รพ.เอกชน ขูดรีดค่ารักษาพยาบาล

สภาผู้บริโภคจี้ รพ.เอกชน รับผิดชอบต่อสังคม เหตุถูกร้องเรียนอื้อ

เครือข่ายผู้ป่วยฯ วอนสังคมรวมพลัง 5 หมื่นชื่อ ชง ‘นายกฯ’ ตั้งหน่วยงานคุมราคา รพ.เอกชน

เหยื่อ รพ.เอกชน สุดช้ำ ถูกรีดค่ารักษาจากความผิดพลาดของ รพ.เอง

จดหมายแค่ฉบับเดียวทำให้ไม่ได้ ญาติคนไข้ โวย รพ.เอกชน ไม่ตั้งเรื่องเบิกเงิน 8 หมื่นบาทคืน