ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คำถามนี้เป็นคำถามที่เจอได้บ่อยเหลือเกิน

วันก่อนผมไปร่วมงานที่โรงแรมหนึ่ง นั่งติดกับท่านผู้ใหญ่ของบ้านเมืองท่านหนึ่ง เราคุยกันสัพเพเหระ ทั้งเรื่องการใช้สมุนไพรในการแพทย์ แล้วต่อมาเรื่อยๆ จนถึงเรื่องมะเร็งปากมดลูก

ท่านยังคงมีความสงสัย และไม่เข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก แลกเปลี่ยนกันอยู่หลายต่อหลายคำถาม

เช้านี้วันอาทิตย์ อากาศดี เลยคิดว่าจะเล่าสาระสำคัญที่ประชาชนควรรู้ จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องเหมาะสม และเท่าทันต่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่อาจทำให้หลงเข้าใจผิดไปกระทำการใดๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์

เมื่อเดือนที่แล้ว (29 มิถุนายน 2018) มีบทบรรณาธิการที่เขียนโดย Jo Morrison และ Toby Lasserson ซึ่งเป็นทีมบรรณาธิการของ Cochrane Collaboration และผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งในผู้หญิง กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยมากเป็นอันดับ 4 ในสตรีทั่วโลก เมื่อไม่กี่ปีก่อน มีการประมาณการว่า ทั่วโลกมีสถิติผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูกปีละกว่า 500,000 คน และเสียชีวิตจากโรคนี้ปีละกว่า 260,000 คน หรือวันละประมาณ 700 คนเลยทีเดียว

วิธีที่รณรงค์ป้องกันโรคนี้ในสมัยก่อนคือ การไปตรวจภายใน เพื่อให้หมอเอาเครื่องมือนำเซลล์ปากมดลูกไปตรวจดูว่ามีความผิดปกติใดๆ หรือไม่ หรือที่เราเรียกง่ายๆ ว่า "ไปตรวจมะเร็งปากมดลูก" หรือ "แป๊บสเมียร์ (Pap smear)" นั่นเอง

ทั้งนี้การรณรงค์ให้ไปตรวจดังกล่าวก็ยังไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนัก เนื่องจากข้อจำกัดในการต้องมีบุคลากร สถานที่ อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงห้องปฏิบัติการในการตรวจเซลล์ นอกจากนี้ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยก็ยังรู้สึกอายหรือไม่สะดวกใจที่จะไปตรวจอีกด้วย

งานวิจัยทางการแพทย์นั้นทำกันมานาน และพบว่าสาเหตุของการเป็นมะเร็งปากมดลูกเนี่ยมาจากการติดเชื้อไวรัสชื่อว่า Human Papilloma Virus (HPV) ซึ่งมีหลายต่อหลายสายพันธุ์ แต่มีอยู่ 2 สายพันธุ์ที่มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกรวมกันถึงร้อยละ 70 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด นั่นคือสายพันธุ์ 16 และ 18 จึงเป็นที่มาของการคิดค้นวิธีผลิตวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสนี้

โดยปกติแล้ว ผู้หญิงแทบทุกคนจะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสนี้จากการมีเพศสัมพันธ์ แต่การติดเชื้อดังกล่าว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะสามารถทำงานกำจัดเชื้อนี้ไปใน โดยใช้เวลาเฉลี่ย 6-18 เดือน ยกเว้นมีผู้หญิงบางส่วนที่อาจไม่สามารถกำจัดไวรัสนี้ไปได้เอง ก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมา นั่นคือไวรัสจะไปกระตุ้นให้เกิดเซลล์ปากมดลูกที่มีการเจริญเติบโตแบบผิดปกติ เราเรียกว่าเกิดภาวะ "Cervical Intra-epithelial Neoplasia (CIN)" ความผิดปกตินั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่น้อยไปมาก หากมากก็เสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะเวลาต่อมา

ดังนั้นพอทราบเช่นนี้ เราหลายคนคงเห็นความสำคัญแล้วว่า เกิดเป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก เพราะเราไม่รู้ว่าร่างกายเราจะเป็นกลุ่มของคนส่วนใหญ่ที่กำจัดเชื้อไวรัสไปได้เอง หรือจะเป็นคนส่วนน้อยนั้นที่จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก

นี่จึงตอกย้ำความสำคัญของการไปตรวจแป๊บสเมียร์เป็นประจำ อายคุณหมอผู้ชายก็สามารถแจ้งความจำนงขอตรวจกับคุณหมอผู้หญิงได้ แม้เราอาจเคยได้ยินการแซวๆ กันว่า บางทีคุณหมอผู้ชายนั้นตรวจนุ่มนวลและมือเบากว่าคุณหมอผู้หญิงอีกนะ (จริงไม่จริงไม่รู้)

เอาล่ะ อย่างไรก็ตามก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วกันว่า ไม่สามารถทำให้ทุกคนไปตรวจได้ จึงจำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนป้องกันควบคู่ไปด้วย เพื่อใช้เป็นมาตรการทางสาธารณสุขที่เสริมกันให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในปัจจุบัน เรามีวัคซีนที่ป้องกันมะเร็งปากมดลูกแล้ว โดยมีจำนวนสายพันธุ์แตกต่างกัน ทั้งวัคซีนที่ป้องกันเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 และวัคซีนที่บรรจุสายพันธุ์มากกว่านั้นคือ 4 สายพันธุ์คือ 16, 18, 6, 11 โดย 2 สายพันธุ์หลังนั้นมีประโยชน์ในการป้องกันหูดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ นอกจากนี้ในอนาคตอาจได้เห็นวัคซีนที่ป้องกันไวรัสเอชพีวีแบบรวม 9 สายพันธุ์อีกด้วย

ถึงตรงนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำให้เข้าใจให้ถูกต้องคือ ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็จะไปฉีดแล้วได้ประโยชน์ ก่อนฉีดต้องยอมรับก่อนว่า วัคซีนนั้นก็เป็นเหมือนยาหรือสารเคมีอื่นๆ ที่มีโอกาสทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ตั้งแต่แพ้น้อยๆ เช่น ผื่นคันนิดหน่อย ไปจนถึงแพ้มาก เช่น ช็อค ฯลฯ นอกจากนี้ฉีดแล้วก็อาจเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีด แต่ก็มักมีอาการนิดหน่อย ไม่นานก็หาย

ประการต่อมาคือ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนั้นได้รับการศึกษาวิจัยมาแล้วว่า จะได้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี เพื่อหวังผลที่จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้นั้น จะมีผลในกลุ่มผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 26 ปี เนื่องจากเลยอายุนี้ไปแล้วมักพบว่ามีการติดเชื้อเอชพีวีในร่างกาย การฉีดวัคซีนไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์หรือเกิดประโยชน์น้อยมาก

ปัจจุบันจึงแนะนำให้ผู้หญิงไปรับการฉีดวัคซีนนี้ได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี หากอายุน้อยกว่า 15 ปี สามารถฉีดแค่ 2 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 6-12 เดือน แต่หากอายุมากกว่านั้นจะต้องฉีด 3 เข็มคือ เข็มแรก เข็มสองห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และเข็มสามห่างจากเข็มแรก 6 เดือน จึงจะได้ภูมิคุ้มกันที่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี

ประการสุดท้าย การฉีดวัคซีนนั้นไม่ได้การันตี 100% ว่าเราจะไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นจึงยังควรระมัดระวังเรื่องอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ไม่เลือกหน้า และไม่ป้องกัน นอกจากนี้การไปตรวจแป๊บสเมียร์นั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ควรกระทำเช่นกัน

อ้างอิง Morrison J and Lasserson T. HPV Vaccination: Balancing Facts. Cochrane Database of Systematic Reviews 2018;(6): 10.1002/14651858.ED000126

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย