ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาฯ ชมรมนักวิชาการสาธารณสุขแนะปม พ.ร.บ.ยาควรมองที่ประชาชนเป็นหลัก ถ้าในพื้นที่ขาดแคลนบุคลากร ไม่มีเภสัชกรใน รพ.สต.ก็ต้องยอมให้วิชาชีพอื่นช่วยดำเนินการโดยกำหนดในกฎหมายให้ชัดว่ามีขอบเขตแค่ไหนบ้าง แนะแทนที่จะเถียงว่าวิชาชีพไหนจ่ายยาได้ ควรไปเคร่งครัดกับกับร้านยา คลินิกเถื่อน หรือสถานพยาบาลเถื่อนที่ใช้บุคลากรที่ไม่มีวิชาชีพมาปฏิบัติงานจะดีกว่า รวมทั้งหากกฎหมายให้มีการขายยาในร้านสะดวกซื้อ ก็ต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนว่าวิชาชีพใดทำได้หรือไม่ได้ โดยยึดประชาชนเป็นหลักว่าจะได้อะไรบ้างจาก พ.ร.บ.นี้

นายริซกี สาร๊ะ

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) ให้ความเห็นถึงร่าง พ.ร.บ.ยา ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงระหว่างวิชาชีพเภสัชกรและพยาบาลในขณะนี้ว่า ทั้ง 2 วิชาชีพกำลังรักษาบทบาทของวิชาชีพตนเองอยู่ ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก แต่อย่างไรก็ดี ตนมองว่าอยากให้มองที่คนไข้เป็นหลัก และควรมองในบริบทของแต่ละพื้นที่ว่ามีความขาดแคลนบุคลากรหรือไม่ ถ้าเภสัชกรไม่สามารถลงไปในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)ได้ ก็ต้องยอมให้วิชาชีพอื่นบ้างมาช่วยปฏิบัติงานได้ เช่นเดียวกับพยาบาลที่อยู่ใน รพ.สต. ก็ไม่สามารถรักษาพยาบาลคนเดียวได้ ก็ต้องให้บทบาทนักสาธารณสุขเข้ามาช่วยดำเนินการบำบัดโรคเบื้องต้นด้วย

“กฎหมายก็ต้องระบุให้ชัดว่าให้วิชาชีพไหนทำหน้าที่ได้บ้างภายใต้ขอบเขตอย่างไร ผมว่ามันก็ควรจะเอื้อในบริบทของความขาดแคลน ถ้ากรณีไม่มีเภสัชกรใน รพ.สต.ได้ พยาบาลหรือนักสาธารณสุขก็ช่วยในขอบเขตที่กำหนด เช่นเดียวกับพยาบาลใน รพ.สต.ก็ทำการรักษาพยาบาลคนเดียวไม่ได้ นักสาธารณสุขก็ต้องช่วยในขอบเขตที่กฎหมายเอื้อ ถ้าทำได้แบบนี้ ทุกวิชาชีพก็มองที่คนไข้เป็นหลัก ช่วยกันดูแลรักษาคนไข้ ไม่ได้มองว่าอาณาจักรใครอาณาจักรมัน คนอื่นห้ามเข้ามาก้าวล่วง ก้าวก่าย จนกระทบกับการบริการประชาชน” นายริซกี กล่าว

นายริซกี กล่าวว่า แทนที่จะถกเถียงกันว่าไม่ให้วิชาชีพนั้นวิชาชีพนี้จ่ายยาได้ หรือกลัวการก้าวล่วงระหว่างวิชาชีพ ตนคิดว่าควรไปเคร่งครัดกับร้านยา คลินิกเถื่อน หรือสถานพยาบาลเถื่อนที่ใช้บุคลากรที่ไม่มีวิชาชีพมาปฏิบัติงานจะดีกว่า เพราะมีอันตรายและความเสี่ยงต่อประชาชนมากกว่า ซึ่งหากกำหนดว่าร้านขายยาหรือร้านสะดวกซื้อควรต้องเป็นเภสัชกรตัวจริง และถ้าเป็นพยาบาลหรือวิชาชีพอื่นกฎหมายก็ต้องกำหนดให้ชัดว่าขายได้หรือไม่ มีขอบเขตแค่ไหนอย่างไรหรือกำหนดว่าทำได้ในสถานบริการอะไรบ้าง

“ที่เป็นประเด็นดราม่าคือหลายคนกังวลว่า พ.ร.บ.นี้จะเอื้อต่อนายทุนในการจ้างวิชาชีพอื่นมาขายยาในร้านสะดวกซื้อได้ ก็ต้องไปดูว่ามีกฎหมายที่เอื้อตรงนี้หรือเปล่า ที่สำคัญคือจะกระทบกับประชาชนหรือเปล่า ถ้ากระทบก็ไม่ควร รวมทั้งหากกฎหมายให้มีการขายยาในร้านสะดวกซื้อจริง ก็ต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนว่าวิชาชีพใดทำได้หรือไม่ได้ โดยยึดประชาชนเป็นหลักว่าจะได้อะไรบ้างจาก พ.ร.บ.นี้บ้าง แต่ถ้าเป็นการจ่ายยา หรือการบำบัดโรคเบื้องต้นในหน่วยบริการของรัฐมันมีรายละเอียดควบคุมอยู่ ผมคิดว่ามันควรจะเอื้อให้ทำได้” นายริซกี กล่าว