ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ทุกวันนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์จะพัฒนาล้ำสมัยเกินกว่าที่มนุษย์เมื่อสัก 20-30 ปีจะจินตนาการได้ก็จริง ทั้งยังนำมาสู่สังคมผู้สูงอายุที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ถึงอย่างนั้น การรักษาโรคบ้างชนิดหรือสวัสดิการสาธารณสุขของหลาย ๆ ประเทศกลับยังมีราคาสูงซึ่งกลายเป็นผลกระทบต่อประชาชนมหาศาล

สหรัฐอเมริกา คือ หนึ่งในประเทศดังกล่าว ทั้งยังเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขต่อหัว (per capita) มากที่สุดในโลกอีกด้วย กล่าวคือ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ/หัว/ปี ขณะที่สวีเดนใช้เพียง 351 ดอลลาร์สหรัฐ/หัว/ปี

ไซม่อน เอฟ. แฮเดอร์ (Simon F. Haeder) ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเวส เวอร์จีเนีย (West Virginia University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงสาเหตุและที่มาที่ไปเกี่ยวกับต้นตอว่าเพราะอะไรยาสหรัฐฯ ถึงมีราคาสูง ในบทความของตัวเองที่ชื่อว่า ‘Why the US has higher drug prices than other countries’ ผ่านเว็บไซต์วิชาการอย่าง coversation.com เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา

เขากล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวอเมริกันต้องเสียค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขมากเช่นนั้น เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่การดูแลเรื่องความปลอดภัยของการใช้ยา แต่กลับล้มเหลวในเรื่องของความคุ้มค่าที่จะนำยาใหม่และยาเดิมที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการแข่งขันของบริษัทยาที่เข้ามาเล่นในตลาดสหรัฐฯ นั้นมีจำนวนจำกัด ซึ่งทั้ง 2 ปัญหาดังกล่าวนั้นเป็นที่รู้กันดีในหมู่ผู้วางแผนนโยบาย นักวิชาการหรือผู้บริโภคเองก็ดี

“การขาดความเข้มงวดในการควบคุมราคายาพื้นฐาน ส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐต้องเผชิญกับความเบื่อหน่ายเต็มทนกับยาตัวใหม่ที่มีต้นทุนในการพัฒนาราคาสูง ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าการตลาดและก่อให้เกิดผลกำไรให้กับทุก ๆ หน่วยภายในห่วงโซ่อุปทานเภสัชกรรม ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ผลิตหรือผู้จัดหา โดยพวกเขามีความสามารถในการหาช่องโหว่งทางกฎหมายเพื่อเพิ่มผลประกอบการของตน” แฮเดอร์อธิบาย

ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องราวดังกล่าวยังได้แผ่ขยายและครอบคลุมไปถึงโปรแกรมประกันสุขภาพเด็ก (Children’s Health Insurance Program) โครงการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ (Medicare Part D) และกฎหมายประกันสุขภาพ (the Affordable Care Act) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนั้นถือเป็นผู้ใช้ยารายใหม่หรือครั้งแรก นั้นหมายความว่า การใช้ยาครั้งแรกของพวกเขาได้นำมาสู่การสร้างอุปสงค์ให้เกิดการผลิตยาตัวใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อรักษา รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้บริษัทยาใช้ประโยชน์จากผู้จ่ายเงินยาที่เพิ่งค้นพบใหม่เป็นครั้งแรกของพวกเขาอีกด้วย

นอกจากนี้ แฮเดอร์ยังมองว่าความซับซ้อนในระบบสุขภาพสหรัฐฯ นั้นมาจากการขาดความโปร่งใสในระบบห่วงโซ่อุปทานยาซึ่งได้ไปสร้างเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ให้เกิดการแข่งขันที่มีเพียงบางบริษัทเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้และไปเพิ่มราคายาให้สูงขึ้นตามมา

อย่างไรก็ดี แม้ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์จะมีความพยายามที่จะลดต้นทุนโดยการปรับโครงสร้างส่วนลดยาในขณะนี้ ระหว่าง บริษัทยา ประกันสุขภาพ และผู้จัดการผลประโยชน์ของเภสัชกรรมก็ตาม แต่ก็ดูเป็นไปได้ยากลำบาก เนื่องจากแผนดังกล่าวกลับเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภคที่สุขภาพแข็งแรง กล่าวคือ พวกเขาจะต้องเผชิญกับราคาประกันสุขภาพราคาแพงและไม่ได้เห็นเลยว่าใบเสร็จยานั้นมีการลดอะไรไปบ้าง

“ประเทศอังกฤษหรือเยอรมนี พวกเขาได้มีการดำเนินการเพื่อตรวจประเมินความคุ้มค่าของค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพของพวกเขา และปฏิเสธที่จะให้ประชาชนเสียค่ายาราคาแพงเพื่อยาใหม่ที่ไม่ได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการรักษาไปมากกว่าที่มีอยู่”

“ดังนั้น สหรัฐอเมริกาควรหันไปนำวิธีจากประเทศเหล่านี้มาใช้ กล่าวคือเป็นแนวคิดแบบล่างขึ้นบนที่เน้นการลงทุนในการประเมินและเผยแพร่ข้อมูลความคุ้มค่า รวมถึงการวิเคราะห์ผลประโยชน์ของยาทั้งหมดเพื่อก่อให้เกิดการจัดการที่ดีที่สุด โดยอาจนำสถาบันวิจัยหรือหน่วยงานอิสระเข้ามาดูแลตรงนี้สักหนึ่งหรือสองแห่ง เพราะการรู้คุณค่าของยานั้น ๆ อย่างเท่าเทียมกันเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้บริโภค ผู้ให้บริการ ผู้ผลิตและผู้จ่าย” คือข้อเสนอที่แฮเดอร์ทิ้งท้ายเอาไว้

ที่มา: Why the US has higher drug prices than other countries [http://theconversation.com]