ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ว่าการบริจาค “อวัยวะ-ดวงตา” จะช่วยเหลือต่อชีวิตให้กับผู้อื่นได้ แต่ทุกวันนี้ยังคงมีความเชื่อและความไม่รู้อีกมากมายที่เป็นอุปสรรคของการดำเนินการ

ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2562 พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ 6,311 ราย และผู้รอรับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา 13,510 ราย ทั้งหมดนี้กำลังเฝ้ารอคอยความหวังในการได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่อยู่นอกเหนือการเพิ่มจำนวนผู้ผู้บริจาค คือฐานข้อมูลของผู้ที่ได้แสดงเจตจำนงเอาไว้ยังไม่มีความชัดเจน มีหลายกรณีพบว่าแม้ผู้เสียชีวิตจะแสดงความจำนงไว้ แต่คนในครอบครัวไม่ทราบ หรือดำเนินการล่าช้าจนทำให้อวัยวะเหล่านั้นใช้การไม่ได้

อุปสรรคดังกล่าว นำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงการนำข้อมูลผู้บริจาคอวัยวะและดวงตาไปใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กรมการปกครอง สภากาชาดไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 13 พ.ย.62 ที่ผ่านมา

การลงนามครั้งนี้ตั้งเป้าที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลการบริจาคอวัยวะและดวงตาในระบบ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้แสดงความจำนง บริจาคอวัยวะและดวงตาในการนำไปใช้ในทางการแพทย์ ช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้กับผู้รอรับบริจาคอวัยวะและดวงตา

ปัจจุบันการบริจาคมาจาก 2 ช่องทางหลักๆ หนึ่งคือระบบของสภากาชาดไทย ทั้งในส่วนของศูนย์บริจาคอวัยวะ และศูนย์ดวงตา อีกหนึ่งคือกรมการปกครอง ที่สามารถแสดงความจำนงไว้ได้ตอนทำบัตรประชาชน

สำหรับตัวเลขในปัจจุบันมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ 1,114,915 ราย แสดงความจำนงบริจาคดวงตา 1,311,696 ราย

การบูรณาการความร่วมมือของ 5 องค์กรครั้งนี้ ประกอบด้วย สปสช. ที่จะเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลการรับบริจาคอวัยวะและดวงตาจากสภากาชาดไทย และกรมการปกครอง เข้าสู่ฐานข้อมูลระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

หลังจากนั้นจะทำให้โรงพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถตรวจสอบข้อมูลว่า ผู้เสียชีวิตได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะและดวงตาหรือไม่ เพื่อแจ้งให้กับครอบครัวและญาติได้รับทราบ และดำเนินการตามเจตนารมณ์ของผู้เสียชีวิต

ขณะเดียวกันด้วยการขอบริจาคอวัยวะและดวงตาที่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา ทาง สพฉ. จะได้เข้ามาช่วยสนับสนุนการปฏิบัติการฉุกเฉินในการลำเลียงจัดส่งอวัยวะสำคัญที่ต้องแข่งกับเวลา เช่น หัวใจ ตับ ปอด เป็นต้น ทั้งทางอากาศ ทางบก หรือทางน้ำ ตามที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินกำหนด

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า สปสช.ได้สนับสนุนผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึงการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยพัฒนากำหนดเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายไตในปี 2550 การเปลี่ยนกระจกตาในปี 2552 รวมถึงการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในเด็กและการปลูกถ่ายตับในเด็กในกรณีท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด หรือตับวายจากสาเหตุอื่นๆ ในปี 2554

“แม้ สปสช.จะจัดสิทธิประโยชน์เหล่านี้แล้ว แต่ยังมีปัจจัยสำคัญในการทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา คือการได้รับอวัยวะและดวงตาเพื่อปลูกถ่าย ซึ่งที่ผ่านมาได้เล็งเห็นอุปสรรค โดยเฉพาะการจัดเก็บอวัยวะและดวงตาจากผู้เสียชีวิตที่แสดงความจำนงไว้ให้ทันท่วงที จึงเกิดความร่วมมือกับอีก 4 องค์กร ที่ล้วนมีหน้าที่และบทบาทสำคัญในเรื่องนี้” นพ.ศักดิ์ชัย ระบุ

พิชัย ลิขิตเดชาศักดิ์

ต่อเนื่องในการเสวนา “บริจาคอวัยวะและดวงตา สร้างกุศลผู้ให้ สร้างชีวิตใหม่ผู้รับ” ที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านประสบการณ์จริงจากผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาอย่าง พิชัย ลิขิตเดชาศักดิ์ ซึ่งระบุว่าต้องรอคอยระยะเวลาการจองประมาณ 4 ปี จึงจะได้รับการเปลี่ยนถ่าย จนภายหลังได้กลับมามองเห็นชัดอีกครั้ง และไม่เคยคาดคิดว่าการเปลี่ยนจะช่วยให้ดีขึ้นได้ขนาดนี้

“ปัจจุบันกลับมาช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้อื่นก็มีความสุขไปด้วย ซึ่งต้องขอบคุณผู้ที่บริจาคและครอบครัวเขา เพราะดวงตาเขาเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับผม ผมรักดวงตาคู่นี้มาก เมื่อลูกชายผมเห็นแบบนี้ก็ทำให้เขาไปแสดงความจำนงบริจาคด้วยเช่นกัน” พิชัย ระบุ

สอดคล้องกับผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตอย่าง วณิชนันท์ กลิ่นยี่สุ่น ซึ่งสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นตามปกติ ภายหลังได้รับการบริจาคไตจากชายวัย 43 ปี แม้เธอจะไม่ทราบว่าเขาเป็นใคร แต่ก็ต้องขอบคุณตัวเขาและครอบครัว เพราะการให้ของเขานั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับเธอ ซึ่งเธอคอยนึกถึงและทำบุญให้เขาอย่างสม่ำเสมอตามวาระมีโอกาส

สุดใจ บำรุงจิต

ทางด้าน สุดใจ บำรุงจิต ครอบครัวผู้บริจาคอวัยวะ ได้ระบุถึงการตัดสินใจบริจาคอวัยวะของลูกชายหลังประสบอุบัติเหตุทางถนน และไม่สามารถรักษาให้ฟื้นกลับมาได้ ซึ่งจากการที่แพทย์ได้นำเสนอทางเลือกของการบริจาค จึงได้ตัดสินใจไปเพราะต้องการให้ลูกชายได้บุญกุศลไปสู่อีกภพชาติ โดยอวัยวะของเขาที่สามารถมาต่อชีวิตให้ใครอีกหลายคนได้ แทนที่ร่างจะถูกเผาทิ้งเป็นผงธุลี ไม่มีค่าอะไร

นพ.พัชร อ่องจริต

สำหรับความเห็นของ นพ.พัชร อ่องจริต ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า ในสถานการณ์จริงนั้นมีผู้โชคร้ายที่ประสบอุบัติเหตุ แต่สามารถเลือกที่จะบริจาคอวัยวะได้จำนวนมาก แต่การที่จะเข้ามาสู่ระบบได้ บางครั้งติดปัญหาความพร้อมของระบบสาธารณสุขเองในการดูแลอวัยวะ หรือเรื่องของความรู้ความเข้าใจที่ยังต้องสร้างเสริมอีกมาก

“ในต่างประเทศบางครั้งญาติผู้ป่วยจะถามเองเลยว่าเคสเข้าข่ายบริจาคได้แล้วหรือไม่ เพราะยอมรับได้ว่าเขาเสียชีวิตไปแล้วเนื่องจากสมองตาย แต่ของเราเจอหลายครั้งที่ญาติยังหวังปาฏิหาริย์ แม้หมอจะบอกแล้วว่าไม่มีและการรักษาจะยื้อไปเรื่อยๆ หรือแม้แต่เคสที่แสดงเจตจำนงไว้ แต่ทายาทคนใดคนหนึ่งไม่ยินยอม สุดท้ายกระบวนการบริจาคต้องยกเลิกทั้งหมด” นพ.พัชร ฉายภาพสถานการณ์

นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์

ขณะที่ นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ โฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า เรื่องของระบบบริหารจัดการอวัยวะหลังเสียชีวิตนั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันไทยใช้ระบบแบบ opt-in คือให้ผู้ที่ประสงค์อยากบริจาคแสดงความจำนงเข้ามาเอง แต่ความจริงแล้วยังรูปแบบอื่น เช่น mandated choice คือให้ทุกคนตัดสินใจแสดงเจตจำนงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแบบ opt-out ที่ตั้งต้นว่าทุกคนประสงค์จะบริจาค แต่มาแสดงเจตจำนงได้หากไม่ยินยอม เป็นต้น

“การบริหารจัดการเหล่านี้ซับซ้อนและขึ้นกับบริบทของสังคม จึงบอกไม่ได้ว่าแบบไหนดีกว่ากัน แต่ควรให้มีการเปิดรับหลายรูปแบบ เพื่อดูว่าสุดท้ายระบบใดจะเหมาะสมกับประเทศไทย โดยปัจจุบันได้มีความพยายามตั้งคณะทำงานในการศึกษาความเป็นไปได้ ที่ไม่ใช่แค่หมอหรือเจ้าหน้าที่ แต่จะต้องมีนักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย และอีกหลายปัจจัยที่เข้ามาร่วมในการพิจารณาด้วย” นพ.คณวัฒน์ ทิ้งท้าย