ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชี้ ระบบติดตามประเมินผลการให้บริการ PrEP เน้นการเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ HIV สูง แนะผู้ปฏิบัติในพื้นที่วางแผนตั้งแต่ต้นว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการหรือไม่ ไม่ต้องรอจนถึงตอนประเมินผล

พญ.เพชรศรี ศิรินิรันดร์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวบรรยายในหัวข้อ "แผนในการติดตามประเมินผล การให้บริการ PrEP (ป้องกันติดเชื้อเอชไอวี) ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ในงานสัมมนาติดตามความคืบหน้าของการให้บริการเพร็พในประเทศไทยเพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในโอกาสที่ได้ทรงรับการถวายตําแหน่ง UNAIDS Goodwill Ambassador for HIV Prevention for Asia-Pacific ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยระบุว่าถือเป็นนิมิตหมายที่ดีและเป็นประวัติศาสตร์ของไทยว่าแผนติดตามและประเมินผล PrEP เริ่มต้นมาจากรีเควสของฝ่ายนโยบาย ต่างจากทุกครั้งที่นักวิชาการจัดทำแล้วพยายามผลักดันไอเดีย โดยกรอบการติดตามประเมินผล PrEP ที่จะกล่าวถึงนี้ได้พัฒนาทั้งส่วนที่เป็นวิชาการและการทำงานจริง เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยให้ได้ อย่างไรก็ดี กรอบนี้ยังไม่ใช่แผนแต่จะเป็นส่วนที่นำไปสู่แผนที่ชัดเจนมากขึ้นในอนาคต

พญ.เพชรศรี กล่าวต่อไปว่า คำถามหลัก ๆ ที่ใช้ในการประเมินผลแผนงาน PrEP ประเด็นแรกคือ 1.ระบบการให้บริการเป็นไปตามที่ออกแบบไว้หรือไม่ 2.การบริการมีคุณภาพสูงหรือไม่ 3.การให้บริการตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับหรือไม่ 4.มีการดำเนินงานสร้างความต้องการใช้บริการหรือไม่และประสบความสำเร็จหรือไม่ 5.การจัดบริการ 3 รูปแบบ มีจุดแข็งอย่างไร มีความแตกต่างระหว่างการจัดบริการสำหรับกลุ่มประชากรแต่ละกลุ่มและในบริบทของพื้นที่ต่างกันอย่างไร และ 6.การเริ่มจัดบริการทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์อะไรบ้างหรือไม่ เช่น ทำให้การใช้ถุงยางอนามัยลดลงหรือไม่ ทำให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นหรือไม่

"พวกเราที่อยู่ในพื้นที่ เวลามีโจทย์ประเมินผล เราน่าจะใช้ประโยชน์จากมันมากกว่าไปรอตอนท้าย เราเห็นว่าจุดนี้เป็นจุดสำคัญ เวลาทำงานในพื้นที่อาจต้องวางแผนว่าสิ่งที่เราทำอยู่ได้เข้าถึงกลุ่มที่มีความจำเป็นสูงไหมและต้องถามย้อนว่าแล้วคนที่มีความจำเป็นสูงได้เข้าถึงบริการหรือไม่ อันนี้อยากให้คิดตอนต้นเลยไม่ต้องไปรอผลการประเมิน" พญ.เพชรศรี กล่าว

ในส่วนของ PrEP Cascade เพื่อติดตามการให้บริการ พญ.เพชรศรี กล่าวว่าการบริการจะเริ่มต้นจากผู้ที่ผลตรวจ HIV เป็นลบ จากนั้นก็จะมาดูผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสูง จุดนี้ถือว่าสำคัญเพราะบางคนอาจไม่รู้สึกว่าตัวเองมีความเสี่ยง ตัว PrEP Counseling จะทำอย่างไรให้เขาได้เห็นและเข้าใจความเสี่ยง รวมทั้งรู้ว่ามีทางเลือกในการป้องกันและทำให้คน ๆ นั้นเลือกทางเลือกที่เหมาะสมกับตัวเองได้ จากนั้นก็ไปดูว่าจะรับยาทานอย่างไร เช่นเดียวกับการ Retention ก็ยังเป็นคำถามว่าให้ยาไปแล้วจะกินทิ้งกินขว้างหรือไม่ อย่างไรก็ดี Retention นี้ไม่ได้กินยาไปตลอดชีวิต จะมีแบบ Daily PrEP และ Demand PrEP ซึ่งจะก็จะมี Cascade ที่ดูเรื่อง Retention นี้ด้วย

พญ.เพชรศรี กล่าวอีกว่า หลักการสำคัญของการติดตามและประเมินผลแบบเข้มข้นจะต้องมีการเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ มีเป้าหมายว่าควรให้ PrEP มากน้อยแค่ไหน ตรงนี้เป็นเรื่องดีเพราะจะช่วยให้เข้าใจได้ว่าจะต้องเตรียมการอย่างไร ต้องเตรียมงบประมาณแค่ไหน และแน่นอนว่าคนที่เก็บข้อมูลต้องได้ใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในพื้นที่ และสุดท้ายคือการติดตามเป็นไปเพื่อจะรู้ว่าต้องปรับปรุงตรงไหน ไม่ใช่การตำหนิหรือจับผิดแต่อย่างใด

สำหรับการการขับเคลื่อนการติดตามประเมินผลจะมีตั้งแต่การติดตามในระบบบันทึกปกติของหน่วยบริการ (NAP+) การทำ PrEP Cascade และ IBBS เพื่อติดตามความครอบคลุม และต้องมีการศึกษาเชิงคุณภาพเป็นครั้งคราวในบางเรื่องที่ต้องการหาคำตอบ

"ณ ตอนนี้เราอยากให้มีการเร่งศึกษาระบบการให้บริการที่มีในปัจจุบัน เพื่อจะได้มีความชัดเจนว่าการออกแบบระบบบริการควรเป็นแบบไหน" พญ.เพชรศรี กล่าว

พญ.เพชรศรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของการวัดผลกระทบระยะยาว อยากให้มีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล NAP+ ให้เต็มที่ทั้งการติดตามแนวโน้มผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ การเปลี่ยนแปลงผลการตรวจ HIV ในกลุ่มผู้ใช้ PrEP การติดตามการติดเชื้อในกลุ่มที่หยุด PrEP ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการรายงานและเฝ้าระวังโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกด้วย