ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เสนอ สธ.ชี้แจงประชาชนทั้งประโยชน์-โทษ จัดระบบเก็บข้อมูลผลกระทบ เร่งสร้างหน่วยบริการที่มีความรู้เรื่องนี้ และต้องจัดการกัญชาใต้ดิน

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ในเวทีเสวนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม หัวข้อ ‘การเฝ้าระวังและกลไกการจัดการผลกระทบจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์’ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ผศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กัญชามีประโยชน์ในหลายด้าน แต่มักถูกใส่ร้ายป้ายสีให้คนกลัวเพื่อผูกขาดธุรกิจยา จากประวัติศาสตร์ของกัญชาในสหรัฐอเมริกา ได้มีการออกกฎหมายให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภทที่ 1 ในกลุ่มเดียวกับเฮโรอีน แม้มีเสียงต้านจากสมาคมแพทย์ในขณะนั้น แต่ไม่เป็นผล แต่ปัจจุบันมีทิศทางที่ดีขึ้น กัญชาทางการแพทย์ถูกนำไปใช้ใน 67 รัฐของสหรัฐอเมริกา และบางประเทศใช้เพื่อสันทนาการได้ ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีผลงานวิจัยทางการแพทย์มากมาย สำหรับประเทศไทยมีความจำเป็นต้องรื้อฟื้นและสร้างองค์ความรู้เรื่องนี้กันใหม่ และเร่งทำให้หน่วยบริการสาธารณสุข ให้บริการอย่างมีความรู้แก่ประชาชน

ด้าน ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ จากศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ มหวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์ต้องมีการประเมินผู้ป่วยรอบด้าน ต้องทำความเข้าใจทั้งกับผู้ป่วยและญาติ ตลอดจนติดตามผลอย่างใกล้ชิดและรายงานเข้าระบบเพื่อติดตามผลที่เกิดขึ้นทางทางบวกและทางลบ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ต้องเร่งสร้างความรู้เพื่อสนับสนุนให้การใช้กัญชาทางการแพทย์เป็นไปอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนเพื่อให้เข้าใจประโยชน์และโทษของกัญชา โดยควรมีข้อมูลที่ชัดเจนและบอกประชาชนทั้งสองด้าน ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาฯ พบว่า ปัจจุบันมีรายงานผลกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่กลุ่มใจเต้นเร็ว ใจสั่น ซึม หมดสติ และมีบางส่วนแค่อยากลองใช้ ทั้งที่ไม่มีโรค กรณีแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น

นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ ผู้อำนวยการมูลนิธิสุขภาพไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีแรงปะทะสูงมากระหว่างวิชาชีพกับประชาชนที่ต้องการลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพตัวเองในกลุ่มโรคบางกลุ่มที่กัญชา
มีศักยภาพรักษาได้ ปัจจุบันชุมชนมีเทคโนโลยีผลิตได้เองและมีมาตรฐานระดับหนึ่ง แต่ อย. ก็ต้องควบคุมคุณภาพและเร่งจับกุมผู้ผลิตน้ำมันกัญชาใต้ดินด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคประชาชนกำลังยกร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม โดยเสนอให้แยกกัญชาออกมาจาก พ.ร.บ. ยาเสพติด เพื่อให้เป็นพืชสมุนไพร