ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

24 ธ.ค.62 ที่ผ่านมา เกิดเหตุสะเทือนขวัญขึ้นในกรุงปักกิ่ง หลัง ซุน เหวนปิน บุตรชายของคนไข้รายหนึ่ง ใช้มีดปาดคอหยางเหวิน แพทย์หญิงประจำห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลการบินพลเรือนปักกิ่งจนเสียชีวิต

สื่อจีนเปิดเผยรายละเอียดในเวลาต่อมาว่า ซุน ก่อเหตุดังกล่าว เนื่องจากไม่พอใจการรักษาของแพทย์ และเห็นว่าแพทย์ ไม่สามารถให้การรักษามารดาวัย 95 ปี ได้ดีพอ

อย่างไรก็ตาม เพื่อนร่วมงานในโรงพยาบาลของหยาง ระบุว่า เป็นตัวบุตรชายคนไข้ผู้ก่อเหตุเอง ที่ “ปฏิเสธ” ไม่ให้ตรวจเช็คร่างกายมารดาอย่างละเอียด โดยขอให้แพทย์ เร่งใส่ “สายน้ำเกลือ” เท่านั้น

รายงานจากโรงพยาบาลถูกเผยแพร่ในเวลาต่อมาว่า อาการของผู้ป่วยวัย 95 ปี มีตั้งแต่การติดเชื้อในกระแสเลือด หัวใจล้มเหลว ซึ่งผู้ป่วยอายุมากขนาดนั้น ต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นเป็นปกติ แต่ญาติคนไข้กลับไม่พอใจ และขู่ทำร้ายทั้งหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์แทบทุกวัน

จ้าวหนิง เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติจีน แถลงในเวลาต่อมาว่ารู้สึกเสียใจกับเหตุดังกล่าวอย่างมาก และเห็นด้วยหากจะมีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันความรุนแรงในสถานพยาบาล

ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น กฎหมายก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมา สภาผู้แทนประชาชนจีน เพิ่งโหวตผ่านหลักการของร่างกฎหมายฉบับใหม่ ภายใต้ชื่อ “ร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการแพทย์และการรักษาขั้นพื้นฐาน”

แม้โดยชื่อร่างกฎหมายจะไม่เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรง แต่สำนักข่าวซินหัว ยืนยันว่า กฎหมายดังกล่าวจะ “คุ้มครอง” บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ให้ทั้ง “องค์กร” และ “บุคคล” ข่มขู่ หรือทำลายความปลอดภัยทั้งในทาง “ร่างกาย” และในทาง “ศักดิ์ศรี” ของบุคลากรทางการแพทย์

ขณะเดียวกัน ผู้ใดก็ตามที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถานพยาบาล หรือสถานบริการทางการแพทย์ และทำอันตรายต่อบุคลากรทางการแพทย์ จะได้รับ “โทษทางปกครอง” ทั้งโทษควบคุมตัว โทษจำคุก และโทษปรับ ซึ่งรุนแรงกว่าโทษทางอาญาทั่วไป

และในร่างกฎหมายฉบับเดียวกัน ยังกำหนดโทษสำหรับ ผู้ที่ได้รับข้อมูล หรือเปิดเผยข้อมูลการรักษาพยาบาลส่วนบุคคลอย่างผิดกฎหมายอีกด้วย

หากผ่านขั้นตอนในสภาเรียบร้อย สำนักข่าวซินหัวเชื่อว่า สภาผู้แทนประชาชนจีน ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้ควบคุมทั้งหมด จะเร่งผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้มีผลบังคับใช้ได้ทันทีตั้งแต่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป

สำนักข่าว CGTN ของรัฐบาลจีน รายงานว่า เมื่อปี 2561 มีรายงานเหตุการณ์ความรุนแรงต่อแพทย์ - พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข มากกว่า 12 ครั้ง และในจำนวนนี้ มีบุคลากรมากกว่า 2 คน ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต

เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว แพทย์หญิงรายหนึ่งก็เพิ่งถูกคนไข้มะเร็งใช้มีดแทงจนเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ในเมืองหลานโจว เดือน ก.ค. 2561 แพทย์ประจำโรงพยาบาลในเมืองเทียนจีน ก็ถูกญาติคนไข้มากกว่า 3 คน รุมแทงจนเสียชีวิต ขณะที่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น แพทย์ในมณฑลอานฮุย ก็ถูกแทงเสียชีวิตเช่นเดียวกัน หลังมีเหตุทะเลาะวิวาทกับสามีคนไข้

ความปลอดภัยในโรงพยาบาลกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่บุคลากรสาธารณสุข เรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ออกมาปกป้อง “สวัสดิภาพ” แต่ในประเทศคอมมิวนิสต์ที่มีประชากร 1,400 ล้านคน การเรียกร้องให้เร่งออกกฎหมาย ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก

แพทย์ในจีนหลายคนเห็นตรงกันว่า หากไม่เกิดเหตุการณ์ถี่ขึ้น สะเทือนขวัญมากขึ้นในระยะหลัง จนมีแพทย์เสียชีวิตติดต่อกัน 2 คน ในเวลาไม่กี่เดือน รัฐบาลก็คงไม่ขยับตัว เพื่อออกกฎหมายฉบับนี้

เว็บไซต์ ติ่งเซียนหยวน เว็บไซต์สำหรับบุคลากรสาธารณสุข ได้ทำสำรวจความคิดเห็นไม่นานนี้ พบว่า แพทย์มากกว่า 85% เคยเผชิญกับ “ความรุนแรง” ในที่ทำงานของตัวเอง โดยส่วนใหญ่เป็นเหตุ “ทะเลาะวิวาท” เนื่องจากคนไข้ไม่พอใจ “ระยะเวลา” การรอตรวจ ซึ่งกินเวลานาน จากจำนวนประชากรที่กระจุกตัวในเมืองใหญ่ ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับได้

รัฐบาลจีนเองรับรู้ปัญหานี้ และพยายามปฏิรูประบบสุขภาพ “ปฐมภูมิ” เพื่อกระจายสถานีอนามัย ไปยังเขตชนบทมากขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สำเร็จง่าย ๆ เนื่องจากพื้นที่อันกว้างใหญ่ของจีน ไปจนถึงปัญหาระดับโลกอย่างการผลิตบุคลากรไม่เพียงพอ

นั่นทำให้แพทย์ - พยาบาล - บุคลากรทางการแพทย์ในเขตเมือง ต้องรับแรงกดดันจากคนไข้ และญาติอยู่บ่อยครั้ง เพราะไม่สามารถรักษาคนไข้ได้ทันเวลา ตามที่คนไข้ต้องการ

วารสารทางการแพทย์ระดับโลก The Lancet เพิ่งตีพิมพ์บทความวิชาการเกี่ยวกับสาเหตุของความรุนแรงในสถานพยาบาลของจีนเมื่อปี 2555 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว พบว่าสาเหตุมีตั้งแต่ระบบ “งบประมาณ” ที่ลงไปไม่ถึงสถานพยาบาล ทำให้เครื่องมือแพทย์ - สถานพยาบาล และบุคลากรไม่สามารถรักษาคนไข้ได้เต็มที่ การสื่อสารที่ไม่เข้าใจกันระหว่างบุคลากร และคนไข้ - ญาติคนไข้

ขณะเดียวกัน ภาพลบที่สื่อรายงานเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์ ความคาดหวังที่สูงเกินไปของคนไข้และญาติ รวมถึง “บิลค่ารักษา” ที่แพงจนกระทบกับครอบครัวยากจน ล้วนมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงด้วยกันทั้งนั้น

หากจีนสามารถผ่านกฎหมายดังกล่าวได้สำเร็จ ก็น่าจะเป็นประเทศแรก ๆ ของโลก ที่มีกฎหมายคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ และ “เพิ่มโทษ” ให้กับการก่อเหตุรุนแรงในโรงพยาบาลโดยเฉพาะ ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี หากประเทศไทยจะนำร่างดังกล่าว มาปรับใช้บ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีนตั้งเครื่องสแกนอาวุธหน้า รพ.หลังเกิดเหตุ ลูกชายคนไข้ ‘ฆ่าหมอ’

แปลและเรียบเรียงโดย สุภชาติ เล็บนาค จาก

Beijing Doctor Brutally Killed by Patient’s Son [www.sixthtone.com]

China launches new law to protect doctors [www.bbc.com]