ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกายื่นขอล้มละลายแล้วอย่างน้อย 30 แห่งเมื่อปีก่อน

การเมืองที่ยังไม่ชัดเจนเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนธุรกิจโรงพยาบาล

วิกฤติด้านการเงินบีบให้โรงพยาบาลหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ภาวะล้มละลายจนต้องปิดตัวลง ส่งผลสืบเนื่องให้ผู้ป่วยจำนวนมากขาดที่พึ่ง

รายงานจากบลูมเบิร์กชี้ว่าปัญหาการเงินในภาคการดูแลสุขภาพที่รุนแรงขึ้นทำให้โรงพยาบาลอย่างน้อย 30 แห่งยื่นเรื่องขอล้มละลายเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งมีตั้งแต่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในนครฟิลาเดลเฟียไปจนถึงศูนย์การแพทย์ขนาดเล็กในชนบท

แน่นอนว่าแนวโน้มจะยิ่งมืดมนกว่านี้ เมื่อสัปดาห์ก่อนเจ้าของล้มละลายของศูนย์การแพทย์เซนต์วินเซนต์ในนครลอสแอนเจลิสก็เพิ่งเผยว่ามีแผนปิดโรงพยาบาลหลังการเจรจาซื้อขายล้มเหลว

ด้านระบบสุขภาพของสหรัฐอเมริกาเองก็เผชิญปัญหาซับซ้อนไม่แพ้กัน ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยพากันบ่ายหน้าจากชนบทเข้าสู่เมืองและทำให้อุปสงค์ต่อบริการรักษาพยาบาลในชุมชนที่น้อยอยู่แล้วยิ่งเบาบางลงไปอีก ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลหลายแห่งในเมืองเล็กซึ่งให้การรักษาผู้ยากไร้และมักอยู่ได้ด้วยเงินเบิกจ่ายค่ารักษาจากภาครัฐเป็นหลักจึงไม่อาจรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้นได้อีกต่อไป

สมาคมโรงพยาบาลอเมริกันคำนวณว่าเงินเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับจากกองทุนเมดิแคร์และเมดิคเอดสำหรับผู้สูงอายุและคนยากไร้ยังคงต่ำกว่าต้นทุนค่ารักษาพยาบาลราว 76,600 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลก็สูญเสียรายได้ก้อนใหญ่เนื่องจากศูนย์การแพทย์ประเภทไม่รับผู้ป่วยค้างคืนเข้ามาแข่งขันให้บริการหัตถการที่ทำกำไรงาม

เท่านั้นยังไม่พอ...ภาคการดูแลสุขภาพยังกลายเป็นสนามประลองกำลังทางการเมืองระหว่างรีพับลิกันและเดโมแครตก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้ และคาดว่าการพลิกโฉมนโยบายครั้งใหญ่จะมีขึ้นในอีกไม่ช้า

“คุณจะวางแผนธุรกิจได้อย่างไรถ้าไม่ทราบว่าภาครัฐจะผลักดันนโยบายไปทางไหน” แซม ไมเซิล นักวิเคราะห์กล่าว “ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าอลิซาเบธ วอร์เรน (หนึ่งในผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี) จะได้รับเลือกก็แน่นอนว่าแผนธุรกิจก็จะกลายเป็นอีกแบบไปเลย”

ผู้ชุมนุมรวมตัวกันที่หน้าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Hahnemann นครฟิลาเดเฟีย เพื่อประท้วงการปิดและขายโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562

แม้แต่โรงพยาบาลก็ป่วยหนัก

มีโรงพยาบาลอย่างน้อย 30 แห่งในสหรัฐอเมริกายื่นขอล้มละลายเมื่อปีที่ผ่านมา

เอ็ดวิน ปาร์ค ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสุขภาพของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ชี้ว่าเดิมทีระบบสุขภาพของสหรัฐในปัจจุบันก็เผชิญกับแรงบีบคั้นอยู่แล้ว คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์พยายามจำกัดการขึ้นทะเบียนผู้ป่วยสวัสดิการเมดิคเอด ขณะที่ข้อบังคับซึ่งมีการเสนอเมื่อปีกลายก็อาจทำให้เงินอุดหนุนแก่โรงพยาบาลหายไปอีกหลายพันล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกันก็กำลังเป็นที่จับตาว่าศาลเมืองฟอร์ตเวิรธ์ในรัฐเท็กซัสจะมีความเห็นต่อสวัสดิการโอบามาแคร์อย่างไรหลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าระเบียบที่บังคับให้ประชาชนต้องมีประกันสุขภาพนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ผู้สันทัดกรณีมองว่าปัญหาการเงินของโรงพยาบาลนั้นไม่อาจเยียวยาด้วยวิธีทั่วไปและการยุบโรงพยาบาลก็ไม่ได้ทำง่ายเหมือนเอาผ้าใบมาบังร้านที่ปิดตัวอยู่ในห้าง การปิดโรงพยาบาลนอกจากจะส่งผลให้ลูกจ้างจำนวนมากตกงานแล้วยังพลอยทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไร้ที่พึ่ง

ต้องไม่ลืมว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจทั่วไปมุ่งแก้ไขที่ตัวสินค้า ขณะที่การปรับโครงสร้างของสถานพยาบาลนั้นหมายถึงการข้องเกี่ยวกับชีวิตคนจำนวนมาก เมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อนมีโรงพยาบาลขนาด 25 เตียงที่เมืองซาเวียร์เคาน์ตีในรัฐอาร์คันซอส์ปิดตัวลงจากปัญหาการเงิน สำหรับชาวเมืองกว่า 17,000 ชีวิตแล้วโรงพยาบาลดังกล่าวเป็นสถานพยาบาลเพียงแห่งเดียวที่พอจะพึ่งพาได้ในยามฉุกเฉิน เช่นเดียวกันการปิดโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ชานเมืองนครชิคาโกหลังประสบปัญหาขาดทุนซึ่งทำให้มีคนตกงานราว 550 คนและทำให้ชุมชนต้องเสียโรงพยาบาลขนาด 230 เตียง

ชุมชนหลายแห่งในพื้นที่ชนบทมีประชากรเบาบางจนไม่เพียงพอที่โรงพยาบาลจะอยู่ได้ ผลสำรวจในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2561 ชี้ว่ามีโรงพยาบาลราวร้อยละ 8 ที่เสี่ยงจะต้องปิดตัวและอีกร้อยละ 10 มีสถานะการเงินอ่อนแอ อนึ่ง สมาคมโรงพยาบาลอเมริกันชี้ว่าจำนวนโรงพยาบาลทั่วสหรัฐลดลง 64 แห่งและคงเหลืออยู่ 6,146 แห่งโดยอ้างอิงจากสถิติล่าสุดเมื่อปี 2561

ปัญหาการเงินของโรงพยาบาล

จำนวนโรงพยาบาลที่ยื่นขอล้มละลายพุ่งพรวดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าในช่วงไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับฐานตัวเลขของปี 2553 นักวิเคราะห์มองว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนเงินสดและสถานการณ์จะยิ่งย่ำแย่เข้าไปอีก และหากจะรั้งบริการรักษาพยาบาลให้อยู่กับชุมชนก็จำเป็นต้องอัดฉีดเงินอุดหนุนเข้าไปมากกว่านี้

การปิดตัวของโรงพยาบาลบางแห่งก็มีสาเหตุจากการถูกตัดออกจากเครือข่าย ดังเช่นกรณีของโรงพยาบาลภายใต้การบริหารของบรรษัทคอมมิวนิตีเฮลธ์ซิสเต็มอิงค์และคูโอรุมเฮลธ์คอร์ปซึ่งเป็นบริษัทลูกที่แยกตัวออกมา กำไรของคูโอรุมตกต่ำลงนับตั้งแต่แยกตัวจากบริษัทแม่เมื่อปี 2559 เมื่อผลประกอบการออกมาย่ำแย่ในไตรมาสที่ 3 ทางบริษัทก็ยอมให้เจ้าหนี้ปรับโครงสร้างหนี้พร้อมกับยอมรับว่าธุรกิจอาจไปไม่รอด จนเมื่อปีกลายจึงมีข้อเสนอขอซื้อหุ้นซึ่งคาดว่าจะช่วยพลิกธุรกิจให้ฟื้นกลับมาได้

ภาระหนี้สินท่วมท้น

แหล่งข่าวรายงานว่าคอมมิวนิตีเฮลธ์เองก็สูญเสียรายได้ไปราว 5 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากหนี้สินที่พอกพูนกว่า 13,500 ล้านดอลลาร์อันมีสาเหตุจากภาระค่ารักษาในสวัสดิการเมคิแคร์และเมดิคเอดจากโรงพยาบาลในชนบท นอกจากนี้การขยายความคุ้มครองด้านสุขภาพตามกฎหมายประกันสุขภาพปี 2553 (หรือที่เรียกว่าโอบามาแคร์) ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นกระทั่งไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลของบริษัทหรือสามารถใช้บริการศูนย์การแพทย์ประเภทไม่รับผู้ป่วยค้างคืนซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า สอดคล้องกับทรรศนะของนักวิเคราะห์การเงินซึ่งมองว่าโรงพยาบาลกำลังขาดรายได้จากบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน

ผู้ชุมนุมรวมตัวกันที่หน้าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Hahnemann นครฟิลาเดเฟีย เพื่อประท้วงการปิดและขายโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562

แม้โรงพยาบาลในชนบทอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่สุด แต่การปิดโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในนครฟิลาเดลเฟียก็อาจทำให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่โรงพยาบาลในเมืองใหญ่ เพราะถึงแม้การควบรวมกิจการโรงพยาบาลจะไม่ยากในแง่การทำธุรกิจ แต่นักลงทุนก็จะตระหนักในภายหลังว่าการบริหารงานโรงพยาบาลให้สามารถทำกำไรได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และในสายตานักลงทุนแล้วตัวทำเลที่ตั้งของโรงพยาบาลในเมืองใหญ่ซึ่งที่ดินมีราคาแพงระยับอาจมีค่ามากกว่าโรงพยาบาลเองเสียด้วยซ้ำ

แปลและเรียบเรียงโดย หฤทัย เกียรติพรพานิช จาก

Hospital Bankruptcies Leave Sick and Injured Nowhere to Go [www.bloomberg.com]