ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ทนายรณรงค์” พาผู้ป่วยรับผลกระทบหมอ รพ.แห่งหนึ่ง( รพ.บางใหญ่) เข้ายื่นเรื่องร้องปลัดสธ. เหตุหมอวินิจฉัยโรคผิดพลาดทำให้เป็นผู้ป่วยติดเตียง  วอนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและช่วยเหลือเยียวยาเร่งด่วน ด้าน บุตรสาว ชี้! อยากให้ รพ.รักษาให้ได้มาตรฐานกว่านี้

วันที่ 25 ม.ค. 67 เวลา 09.30 น. ทนายรณรงค์ แก้วเพ็ชร  ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมด้วยผู้ป่วยและลูกสาว เข้ายื่นเรื่องร้อง นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรณีแม่ผู้เสียหาย ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง (รพ.บางใหญ่) แล้วหมอวินิจฉัยโรคผิดพลาดทำให้เป็นผู้ป่วยติดเตียง

โดยทนายรณรงค์ กล่าวว่า  ลูกสาวของคุณป้ามาร้องเรียนบอกว่าไปทําการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐบาลด้วยบัตร 30 บาท ที่โรงพยาบาลบางใหญ่ไปรักษาจากอาการไข้หวัดใหญ่ จากนั้นแอดมิด 5 วันจากไข้หวัดใหญ่ วันที่ 6 คืนวันที่ 5 ได้ส่งตัวฉุกเฉินจากโรงพยาบาลบางใหญ่ไปโรงบาลพระนั่งเกล้า ไปสแกนสมอง พบว่า เส้นเลือดในสมองแตก และได้ทำการผ่าคืนนั้นเลย ประเด็นก็คือเส้นเลือดในสมองแตกก็จริง แต่ไปแอดมิดตั้ง 5 วัน ทําไมไม่ตรวจให้ และยังวินิจฉัยว่าเขาเป็นไข้หวัดใหญ่อยู่ แล้วก็ไปสแกนตรวจช่วงท้อง ปรากฎมันไม่เกี่ยวกับท้องเลย จนเป็นสภาพอย่างที่เห็น และที่ผ่านมาได้มีการไปร้องเรียนบ้างแล้ว จนกระทั่ง ทางสสจ.จังหวัดนนทบุรี เยียวยามา แต่ว่าในเงื่อนไขการเยียวยายังติดขัดอยู่ว่า การจะรับเช็คจากภาครัฐ ต้องเซ็นต์ไม่ติดใจเอาความด้วยหรือ ในเมื่อมันเป็นเงินที่ช่วยเหลือในวงเงิน 400,000 บาท ในกรณีเกิดการรักษาที่มันผิดพลาดหรือว่าลดข้อพิพาทระหว่างคนไข้กับโรงพยาบาล 

 

วันนี้โชคดีที่ทางรัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องการแก้ปัญหา 30 บาท ตนก็เลยเอาปัญหา 30 บาทที่เจอมาให้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแก้ให้หน่อย ตนรู้ว่า 30 บาท เรามีสวัสดิการกันหมดแต่เราก็ไม่ได้อยากจะไปนั่งรอ 5 วัน แล้วค่อยไปสแกนสมอง มันไม่ควรต้องเกิดขึ้นใช่หรือไม่ มันแค่ส่งต่อ ถ้าส่งต่อต้องใช้เวลานานขนาดนี้เลยหรือ

"พอมันเกิดความพลาดขึ้นมา แล้วมาถามเราว่าเราต้องการให้โรงพยาบาลรับผิดชอบไหม มันเป็นจุดที่ตอบด้วยเหตุผลตอบด้วยอารมณ์ก็ตอบไม่ได้ พ่อแม่เราอยู่เราก็ต้องเลี้ยงใช่ไหม มันก็ต้องหาทุกทางที่จะแก้ไขหรือเยียวยาได้ดีที่สุด แล้วปัญหาแบบนี้ถ้าวันนั้นลูกสาวตัดสินใจปล่อยแม่ไปมันก็คงไม่เกิด ปล่อยที่ว่าคือ ปล่อยให้ตายแต่เขาไม่ปล่อยมันถึงได้เกิดปัญหาว่า แบบนี้ต้องรับผิดชอบหรือไม่ แล้วถามว่าโรงพยาบาลขาดบุคลากรขนาดต้องให้แม่บ้านมาวัดความดัน ไม่มีงบประมาณจริงๆหรือ "

ด้านนางสาวธัญวรินทร์ ภักดี บุตรสาว เล่าว่า พาแม่เข้ารับรักษาอาการป่วยเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563 ด้วยอาการมีไข้ อาเจียน ไม่ทานอาหาร ที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะ แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เป็นโรงพยาบาลที่ไม่ตรงตามสิทธิการรักษา บัตรทอง 30 บาท โรงพยาบาลจึงแนะนําให้เดินทางไปรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ตามสิทธิการรักษา

จากนั้นวันที่ 14 มิถุนายน 2563 เมื่อถึงโรงพยาบาลแม่มีอาการแขนขาอ่อนแรง ปวดศรีษะ มีไข้ อาเจียน ต้องนั่ง รถเข็นเข้ารับการตรวจ เบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยว่าน่าจะเป็นนิ่วตามที่โรงพยาบาลก่อนหน้านี้วินิจฉัยไว้ จึงส่งตัวไปสแกนท้องที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์รัตนาธิเบศร์ ภายหลังผลออกมาว่าไม่ได้เป็นนิ่ว แพทย์จึงหาสาเหตุอื่น และให้นอนพักรักษาอาการที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน ซึ่งผู้ป่วยนอนรอผลเลือดไปจนถึงวันที่ 18 มิถุนายน กระทั่งหมดสติ และถูกส่งตัวด่วนไปรักษาอาการที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า

จากการตรวจสมอง พบว่า แม่เส้นเลือดใหญ่แตก จึงนําตัวเข้ารับการผ่าตัดในเวลาต่อมา หลังจากนั้นแม่นอนรักษาอาการป่วยอยู่ราว 2 เดือน แพทย์จึงให้กลับไปรักษาอาการต่อที่บ้าน ด้วยสภาพอาการติดเตียง ลุกนั่งเดินไม่ได้ พูดไม่ได้ เจาะคอ และให้อาหารเหลวผ่านทางสายยาง จนรักษาตัวมาจนถึงปัจจุบันนี้

"อยากให้ รพ.รักษาให้ได้มาตรฐานกว่านี้ แล้วประเด็นที่ติดใจคือ ตอนรักษาอยู่ที่ รพ.บางใหญ่ ความดันแม่ 200 กว่า แต่ไม่มีการกระทำใดๆเลย แต่เมื่อถามพยาบาล พยาบาลบอกว่าคนไข้อายุเยอะแล้วความก็จะสูงเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ซึ่งตลอพเวลาที่รักษาตัวอยู่ 5 วันแม่จะบ่นว่าปวดหัวตลอดเวลา กินอะไรไม่ได้ อาเจียนตลอด จนได้ไปแจ้งพยาบาลว่ามีอะไรช่วยบรรเทาแม่ได้บ้าง แต่พยาบาลกลับบอกว่าก็ให้น้ำเกลืออยู่" นางสาวธัญวรินทร์

ด้านนายปิยวัฒน์ ศิลปรัศมี ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากผู้บังคัญบัญชาให้มารับเรื่องนี้ และให้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตนจะต้องนำเรียนผู้บังคับบัญชาระดับสูงถึงการดูแลผู้ป่วยและอีกเรื่องคือการดูแลมาตรฐานการการรักษาพยาบาลว่าถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ถูกต้องเราก็จะต้องช่วยเหลือเยอะที่สุด ส่วนเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ ก็จะต้องไปตรวจเรื่องนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากฟังจากข้อมูลที่ผู้เสียหายมาร้องเรียนวันนี้ เข้าข่ายความผิดด้านมาตรฐานการรักษาพยาบาลหรือไม่ นายปิยวัฒน์กล่าวว่า ถ้าฟังจากผู้ป่วยก็ดูแล้วมีส่วนอยู่ประมาณหนึ่ง แต่อย่างไรก็ต้องไปดูรายละเอียดข้อเท็จจริงก่อน

ถามต่อว่ากรณีที่ให้แม่บ้านมาเป็นผู้ตรวจวัดความดันผู้ป่วยใน รพ. ถือว่าผิดตามมาตรฐานด้วยหรือไม่ นายปิยวัฒน์กล่าวว่า ก็น่าจะใช่ แต่ก็ต้องไปดูรายละเอียดก่อน