ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเผย งานประชุมวิชาการในปีนี้ถือว่าเป็นเกียรติภูมิของประเทศไทยอย่างยิ่งเพราะหัวข้อประชุมคือเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ (UHC) หวังผู้เข้าร่วมประชุมเกิดแอคชั่นขับเคลื่อนระบบ UHC ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศของตัวเอง

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปีรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี พ.ศ. 2563 (PMAC2020) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 ม.ค.-2 ก.พ.2563 ว่า การประชุมนี้ไม่ใช่เป็นการประชุมวิชาการธรรมดา แต่เป็นการประชุมวิชาการทางนโยบายสุขภาพหรือพัฒนาระบบสุขภาพในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ภายใต้การเป็นเจ้าภาพร่วมของประเทศไทยและองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมาก อาทิ องค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ยังมี ธนาคารโลก องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือ JICA มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ฯลฯ รวมกว่า 10 องค์กร ซึ่งหัวข้อการประชุมในปีนี้กล่าวได้ว่าเป็นเกียรติภูมิของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งเพราะหัวข้อการประชุมคือเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) ซึ่งเป็นระบบที่ไทยได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุด

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา PMAC เคยจัดประชุมวิชาการในหัวข้อเกี่ยวกับ UHC มาแล้ว 2 ครั้งและบังเอิญว่าจัดทุก 4 ปี คือปี 2555 หารือในประเด็นเรื่องการเงินการคลังของระบบหลักประกันสุขภาพ และปี 2559 ประชุมเกี่ยวกับ priority setting หรือการจัดลำดับความสำคัญของระบบ ส่วนในปี 2563 นี้มีการพูดคุยกันว่าการผลักดันระบบ UHC ยังน่าจะขับเคลื่อนได้ดีกว่านี้ ประจวบกับมีวาระเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งมีเรื่องสุขภาพอยู่ในนั้นด้วย จึงเป็นที่มาของการประชุมในปีนี้ที่จะหารือกันในเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนระบบ UHC ทั่วโลกให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก

"งานประชุมในปี 2563 เราต้องการยกระดับสร้างความก้าวหน้าแก่ระบบ UHC เพราะพัฒนาการในช่วง 9-10 ปีที่ผ่านมามันช้าไป ก็ต้องมาคุยกันหน่อย" ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวอีกว่า การประชุม PMAC มีผู้ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมมากขึ้นทุก ๆ ปี ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 คน และนอกจากเวทีประชุมหลักแล้ว ในวันที่ 28-29 ม.ค.2563 ยังจะมีการประชุมย่อย (side meeting) อีกกว่า 60 เวทีอีกด้วย

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลที่คาดหวังจากการประชุมในครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ที่การประชุม แต่เป็น Action หลังจากประชุมไปแล้ว เพราะสิ่งที่ต้องการในงานนี้คือให้ประเทศที่ยากจนหรือยังไม่ได้พัฒนาในเชิงระบบเข้ามาเรียนรู้การขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเอาจริงเอาจังของแต่ละประเทศด้วยว่าเอาจริงมากน้อยขนาดไหน ประเทศที่เอาจริงก็ได้ประโยชน์ ดังนั้น นี่จึงเป็นความท้าทายอย่างมากว่าทำอย่างไรการประชุมครั้งนี้จึงจะสามารถผลักดันหรือสร้างแรงบันดาลใจให้ประเทศต่าง ๆ กลับไปพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของตัวเองให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นได้

ทั้งนี้ การประชุมวิชาการนานาชาติประจำปีรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี พ.ศ. 2563 จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 28 ม.ค. - 2 ก.พ. 2563 โดยวันที่ 28-29 ม.ค. 2563 เป็นการประชุมย่อย ส่วนวันที่ 30 ม.ค. 2563 เป็นการพระราชทานรางวัลแก่ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปีนี้ และวันที่ 31 ม.ค.-2 ก.พ. 2563 เป็นการประชุมเวทีหลักเกี่ยวกับการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า