ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) เดินหน้าผลักดันนโยบายป้องกันการติดเชื้อ “โควิด-19” ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ย้ำข้อปฏิบัติ “ควบคุม” - “ป้องกัน” การแพร่เชื้อ พร้อมชู 6 แนวทางเซฟตี้ขั้นสุด ลดความเสี่ยง “คลัสเตอร์” ระบาดในโรงพยาบาล และหน่วยบริการทางการแพทย์

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 นอกจากจะดูแลผู้ป่วยให้มีความปลอดภัยแล้ว การดูแลบุคลากรสาธารณสุขให้มีความปลอดภัย (Personnel Safety) ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ข้อมูลเมื่อ 22 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา ระบุว่าขณะนี้ทั่วประเทศไทย มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสิ้น 106 คน แบ่งเป็น ติดเชื้อจากการทำงานในโรงพยาบาล 77 คน ติดจากในชุมชน 16 คน และอยู่ในระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุ 13 คน ซึ่งการติดเป็นกลุ่มในโรงพยาบาล ที่เรียกเป็น Clusters นั้น ตอนนี้มีอยู่ทั้งหมด 7 กลุ่ม จึงจำเป็นต้องค้นหาสาเหตุและแนวทางปฏิบัติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มเช่นนี้อีก

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เปิดเผยว่า สาเหตุเบื้องต้นส่วนใหญ่ที่ทำให้ติดเชื้อนั้น เกิดจากไม่รู้ว่าคนไข้เป็นโควิด-19 การคัดกรองผู้ป่วยในส่วนของประวัติ และการวินิจฉัยที่มีการคลาดเคลื่อน ทั้งจากการชักประวัติและการบอกประวัติของผู้ป่วย ดังนั้น คนไข้ทุกคนควรใส่ Mask และ เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องยึดหลัก Standard Precaution ในการดูคนไข้ทุกราย ขอเสนอให้ทุกคนที่ดูคนไข้และต้องสัมผัสใกล้ชิด ต้องใส่ Surgical Mask ให้ถูกต้องเหมาะสม และควรใส่ face shield และล้างมือตามหลักขององค์การอนามัยโลก

ที่สำคัญการใช้อุปกรณ์ PPE ทุกโรงพยาบาลต้องมีการฝึกใช้ที่ถูกวิธี และมีการจัดกลุ่มบุคลากรที่มีความเสี่ยงระดับต่างๆ กับอุปกรณ์การใช้ที่ถูกต้อง บุคลากรทำงานในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจทุกคน จัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องใช้ PPE ที่เหมาะสม รวมถึงทบทวนทุกขั้นตอน เช่น การจัดระบบคัดกรอง การแยกผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดโครงสร้างของสถานพยาบาล และ Partway ของคนไข้กลุ่มเสี่ยงทั้งหมด เพื่อวางกระบวนการ บุคคล อุปกรณ์ ป้องกันที่รัดกุมครบถ้วน มีเส้นทาง Xray ของผู้ป่วยที่ชับซ้อนในหนึ่ง Cluster และต้องมี Social and Physical Distancing ในการปฏิบัติงานในโรงพยาบาล

“ตัวเราเองต้องใส่หน้ากากอนามัย ที่สำคัญต้องล้างมือในทุกขั้นตอน และแนะนำให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากทุกคน นอกจากนั้นบางครั้งการติดเชื้อในโรงพยาบาลเกิดจากเราติดกันเอง เพราะมีการพูดคุย กินอาหาร มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ดังนั้น การเว้นระยะห่างระหว่างกันก็มีความสำคัญจำเป็น ขณะที่แผนนโยบายดำเนินการป้องกันการติดเชื้อ ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์นั้น ในช่วง Acute การแพร่ระบาดหนัก ต้องมีการออกไกด์ไลน์แนวทางปฏิบัติ และช่องทางการสื่อสารให้เร็ว จากนั้นถัดไปในระยะ Recovery ต้องมีการวิเคราะห์ ส่งต่อองค์ความรู้ สร้างขวัญกำลังใจ และสุดท้ายต้อง Maintenance and CQI ประยุกต์สู่แนวปฏิบัติประจำ” รองผู้อำนวยการ สรพ. กล่าว

ด้าน ผศ.นพ.ยงค์ รงค์รุ่งเรือง ประธานชมรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล กล่าวว่า ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดนั้น เราจะได้รับรายงานว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อค่อนข้างมาก โดยร้อยละ 60-70 ล้วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประสิทธิภาพในการรองรับที่มีอาจไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันการรักษาที่มีความใกล้ชิด น้อยกว่า 1 เมตร ถือว่าอยู่ในระยะเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีการป้องกัน เช่น การสวมใส่ชุด PPE ที่ถูกต้องเหมาะสม ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อมากขึ้นไปอีก จึงจำเป็นต้องมีการจัดระดับความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค ตามประเภทและกิจกรรมของบุคลากร แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ “ความเสี่ยงต่ำ” เช่น ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ไม่ใช่ส่วนสาธารณะ หรือแออัด แยกจากพื้นที่ให้บริการ “เสี่ยงปานกลาง" เช่น ให้การดูแลผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เข้าข่ายหรือป่วยโควิด-19 และ “เสี่ยงสูง” กับ “เสี่ยงสูงมาก”

สำหรับแนวทางปฏิบัติของสถานพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรนั้น สามารถทำได้โดยผู้นำสถานพยาบาล ต้องกำหนดเป้าหมายความปลอดภัย ผ่านการสื่อสารสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรสม่ำเสมอ โดยต้องส่งเสริมและสร้างให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยด้วย Standard Precautions เช่น บุคลากรหมั่นล้างมือ และให้ผู้ป่วยปิดปากจมูกเมื่อไอจาม พร้อมทั้งกำหนดมาตรการบริหารจัดการ (Administrative controls) มาตรการเครื่องป้องกันร่างกายส่วนบุคคล (Personal protective equipment, PPE) และมาตรการจัดการโครงสร้างสิ่งแวดล้อม (Engineering controls) เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อในสถานพยาบาล ที่เหมาะสมกับบริบท จัดให้มีการสอนฝึกอบรมและประเมินการใช้ PPE ให้แก่บุคลากรทุกคน ที่สำคัญต้องจัดให้มี Rapid Response Team ในการดูแลบุคลากรที่ติดเชื้อทั้ง Physical support และ Mental supportรวมถึงการสอบสวนโรค

ส่วนแนวทางควบคุมป้องกันการแพร่เชื้อในสถานพยาบาล แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1. แนวทางบริหารจัดการ: การสร้างระบบคัดกรองที่ดี มีการแยกผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง การจัดพื้นที่ ระยะห่างที่เหมาะสม ระบบนัดหมาย จำหน่าย ย้าย ส่งต่อที่ดี การให้ภูมิคุ้มกัน การให้ยาป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง การป้องกันโรคและการดูแลรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ของบุคลากรสาธารณสุขเมื่อสัมผัสโรคหรือติตเชื้อ เจ็บป่วย การจัดการอาชีวอนามัย อาชีวเวชศาสตร์ การขำระลดการปนเปื้อน (decontamination) หลังการปฏิบัติงานเป็นประจำ เช่น จัดให้มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าหรืออาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย ระหว่างปฏิบัติงานหรือภายหลังการเกิดอุบัติหตุทางการแพทย์ การให้ความรู้ การฝึกอบรม เทคนิควิธีการปฏิบัติงาน รวมทั้งแนวทางการป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างผู้ร่วมงานและระหว่างครอบครัวของบุคลากร ฯลฯ การจัดการสุขอนามัยของทางเดินหายใจ/มือของผู้ป่วย เช่น ปิดปากจมูกเมื่อไอจาม สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือหรือถูมือด้วยแอลกอฮอล์เจลก่อน สัมผัสสิ่งแวดล้อมฟื้นผิวที่มือสัมผัสบ่อย (high-touch surfaces)

2. แนวทางการใช้เครื่องป้องกันร่างกายส่วนบุคคลและเทคนิคการระมัดระวัง: การจัดให้มีอุปกรณ์เครื่องป้องกันร่างกายส่วนบุคคลอย่างเพียงพอ การฝึกอบรมการใช้งานอย่างถูกต้อง แบ่งตามจำแนกตามประเภทของการใช้งาน กิจกรรม และหัตถการที่ปฏิบัติงาน การเว้นระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing) และการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแบบประจันหน้า (face to face contact)

3. แนวทางการจัดการวิศวกรรมโครงสร้างสิ่งแวดล้อม: การจัดการโครงสร้างของห้องตรวจ ห้องคัดกรอง ห้องเก็บสิ่งส่งตรวจ ห้องแยกโรค การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการอากาศ น้ำ พื้นผิวของห้องอาคาร สถานที่อย่างถูกต้องเหมาะสม การพัฒนาอุปกรณ์และป้องกันการกระเด็น กระจายของเสมหะน้ำมูกน้ำลาย สารคัดหลั่งทางเดินหายใจ

ขณะที่ พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับคำแนะนำการใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ (Personal Protective Equipment, PPE) โดย กรมการแพทย์ ร่วมกับคณะทำงานด้านการรักษาพยาบาล กระทรวงทรวงสาธารณสุข คณะแพทย์จากมหาวิทยาลัย และสมาคมวิชาชีพต่างๆ ฉบับอัพเดทล่าสุดเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่นี่ ซึ่งจะมีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อและแยกผู้ป่วย รวมถึงตารางการเลือกชนิดอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และแพร่กระจายเชื้อโรคโควิด-19 สำหรับบุคลากรในสถานพยาบาลด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้ประกาศเป้าหมายนโยบาย “ความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุขทุกคนในสถานการณ์ COVID-19” สาระสำคัญ ดังนี้

1. สถานพยาบาลทุกแห่งให้ความสำคัญ ประกาศเป้าหมายความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุขทุกคน ในสถานการณ์ COVID-19

2. มีแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย ของบุคลากรสาธารณสุขที่เกิดจากรวบรวมความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบสาธารณสุขทุกภาคส่วน เพื่อให้บุคลากรสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมั่นใจ

3. จัดสรรหน้ากากอนามัยชนิด Surgical Mask ให้เพียงพอ สำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางสาธารณสุขทุกคน และบริหาร จัดการหน้ากากชนิด N95 รวมถึงอุปกรณ์ป้องการอื่นๆ ให้มีสำรองพร้อมใช้อย่างเหมาะสมกับความจำเป็น

4. บุคลากรสาธารณสุขทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือสงสัยติดเชื้อ COVID-19 จะได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อการเฝ้าระวัง และหากพบว่ามีการติดเชื้อจะได้รับการรักษาทันที รวมถึงให้มีการตรวจคัดกรองบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว

5. มีหลักประกันคุ้มครองดูแล เยียวยาบุคลากรสาธารณสุข ที่ติดเชื้อ COVID-19 จากการปฏิบัติหน้าที่ทุกคน

6. มีช่องทางสื่อสารให้ความรู้และสร้างความมั่นใจ ให้กับบุคลากรสาธารณสุขในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงรับฟังเสียงสะท้อนและความต้องการ เพื่อดูแลสนับสนุนได้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง