ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กว่า ศุภมาศ บำรุงรัตน์ พยาบาลจิตเวชประจำโรงพยาบาลระยอง จะเสร็จสิ้นภารกิจและกลับถึงที่พัก ก็เป็นเวลาสองทุ่มกว่าเข้าไปแล้ว

เธอคงจะได้เลิกงานตามเวลาราชการปกติ หากวันนั้นเธอไม่ได้พบกับครอบครัวหนึ่งที่ตกอยู่ในภาวะสิ้นหวังจากสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นผลต่อเนื่องจากการระบาดของโรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ทั้งพ่อและแม่ ในครอบครัวนี้ ทำอาชีพแรงงานรับจ้าง และตกงานเช่นเดียวกับครอบครัวอีกนับล้าน

“การไม่มีกิน ไม่รู้จะใช้ชีวิตยังไง ลูกยังต้องเรียนหนังสือ อีกคนก็ได้รับอุบัติเหตุนอนป่วยติดเตียง อีกทั้งยังมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแลอีกหนึ่งคน ภาวะนี้ทำให้พวกเขาเกิดความเครียด ดูหมดหวัง สิ้นหวังและไร้ค่า สุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย มีคนอีกเท่าไรที่มีปัญหาว้าวุ่นในความยากลำบากที่เกิดจากวิกฤติโควิด” ศุภมาศเล่ากับ Hfocus

“ปัญหาสุขภาพจิตในสภาพแบบนี้ มันเกิดขึ้นแบบ ‘อั้นไม่อยู่’ ”

นอกจากเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลแล้ว เธอยังสวมหมวกอีกหนึ่งใบ นั่นคือ ประธานชมรมพยาบาลจิตเวชและยาเสพติด สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เธอใช้เกือบชั่วโมงในการให้คำปรึกษากับครอบครัวดังกล่าว เคยลงเยี่ยมบ้านร่วมกับนักสังคมสงเคราะห์ในการประสานงานหน่วยงานรัฐที่ให้ความช่วยเหลือด้านสังคม เพื่อหาเงินช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวในเบื้องต้น แม้จะได้เงินและของใช้ในการบริโภคจำนวนหนึ่ง อย่างน้อยพวกเขาจะได้ไม่จบชีวิตเพราะความสิ้นหวังในวันนี้

นี่ไม่ใช่เพียงกรณีเดียวที่พยาบาลจิตเวชต้องเข้าไปข้องเกี่ยว ภายใต้สถานการณ์ความเครียดที่เกิดจากปัญหาปากท้อง มีรายงานข่าวคนฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายรายวัน การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทั้งยังมีกลุ่มคนใช้สารเสพติดเพื่อกลบความเครียดจากการตกงาน หรือถูกจำกัดพื้นที่ในการใช้ชีวิตด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

พยาบาลจิตเวชอย่างศุภมาศยิ่งต้องทำงานหนัก ด้วยจำนวนชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน การมี “เวลาว่าง” หลังเลิกงาน กลายเป็นสิ่งหรูหราเกินไป

โดยเฉพาะเมื่อพยาบาลจิตเวชในโรงพยาบาลรัฐสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีอยู่เพียง 2,235 คน ในโรงพยาบาล 896 แห่งทั่วประเทศ

โรงพยาบาลศูนย์ตามกรอบอัตรากำลังเดิมมีพยาบาลจิตเวช 6- 8 คน ส่วนโรงพยาบาลทั่วไปมีกรอบอัตรากำลังเพียง 1 คน ส่วนในโรงพยาบาลชุมชนเดิมไม่มีโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังเลย แต่ต้องดูแลประชาชนทั้งประเทศมากกว่า 60 ล้านคน

เมื่อเทียบกับบุคลากรทางการแพทย์สาขาอื่น พยาบาลวิชาชีพด้านจิตเวชมีอัตรากำลังคนเพียงน้อยนิดในโรงพยาบาลรัฐ

และยิ่งเมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ทั้งที่ปรากฎและไม่ปรากฏต่อสาธารณะ จำนวนพยาบาลจิตเวชที่มีสัดส่วนน้อยเช่นนี้ ยังสะท้อนถึงการจัดลำดับปัญหาสุขภาพในไทย ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาโรคทางกายแต่ละเลยโรคทางใจ

ปัญหาสุขภาพจิตพุ่ง พยาบาลจิตเวชภาระงานหนัก

“งานจิตเวชครอบคลุมงานหลายด้าน ทั้งการส่งเสริม การป้องกันปัญหาสุขภาพจิต การรักษาผู้ป่วย ฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจ น้อยมากที่ผู้ป่วยจิตเวชหรือผู้ป่วยในกลุ่มเปราะบางจะเดินมาขอความช่วยเหลือถึงโรงพยาบาล” ศุภมาศกล่าว

“พยาบาลจึงต้องทำงานเชิงรุกหลายด้าน ต้องลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อค้นหาผู้ป่วย ให้การรักษา ติดตามและดูแลต่อเนื่อง ทั้งยังประสานกับหน่วยงานด้านสังคมเพื่อให้ความช่วยเหลือ ซึ่งงานทั้งหมดนี้ใช้พยาบาลคนเดียวกัน และเป็นงานที่มากกว่าในโรงพยาบาล”

ยิ่งในภาวะวิกฤติโรคโควิด-19 การทำงานเชิงรุกเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน เพราะความตระหนก และความกลัวต่อความไม่แน่นอนจากโรคระบาด แผ่ขยายอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าผลกระทบทางกายภาพอื่น

“ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เราต้องดูแลคนหลายกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งอาจโดนชุมชนรังเกียจเมื่อกลับภูมิลำเนา

อีกกลุ่มคือคนติดเชื้อซึ่งรักษาหาย ได้กลับบ้าน แต่ชุมชนไม่ยอมรับ พยาบาลก็ต้องลงพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจกับครอบครัวและชุมชน ลดความเครียดของคนที่โดนชุมชนปฏิเสธ หรือแม้กระทั่งการดูแลบุคลากรที่ปฏิบัติงานในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19” ศุภมาศเล่า

หนึ่งในเคสที่เธอดูแลก่อนหน้านี้ คือกรณีที่ผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่านายจ้างให้กักตัวเองที่บ้านไม่ต้องมาทำงาน ส่วนคนในครอบครัวไม่ให้เข้าบ้านเพราะกลัวติดโรค

ทีมพยาบาลของเธอต้องโทรประสานกับนายจ้าง เรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น ประสานการตรวจร่างกายจากแพทย์ในโรงพยาบาลตามสิทธิ โทรสอบถามและประเมินด้านสุขภาพจิตทุกวัน ทั้งยังเจรจากับคนในครอบครัวเพื่อให้ความรู้เรื่องโรคระบาด และแจ้งผลการตรวจยืนยันจากโรงพยาบาลและเตรียมครอบครัวและชุมชนก่อนส่งกลับบ้าน และสามารถอยู่ร่วมชายคาเดียวกันกับคนปกติได้

“อีกกลุ่มคือกลุ่มคนเปราะบาง เช่น คนที่มีความเครียดจากปัญหาปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจ คนตกงาน ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย หรืออาจเครียดมากจนทำร้ายร่างกายตัวเองและผู้อื่น”

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมพยาบาลของศุภมาศได้เข้าดูแลพนักงานคนหนึ่ง ซึ่งมีน้ำมูกไหลและแพทย์ขอให้กักตัวในบ้าน 14 วัน พบว่าภายหลังการกักตัววันที่ 3 พนักงานคนดังกล่าวกระโดดลงมาจากระเบียงของตึกที่พัก แต่ไม่เสียชีวิต แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่เธอไม่ติดเชื้อ แต่การถูกสังคมปฏิเสธและต้องหยุดงาน ก็อาจทำให้เกิดความเครียดจนคิดสั้น

“การทำงานเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงจึงสำคัญมากในสถานการณ์แบบนี้ หากช่วยนำเข้าสู่ระบบดูแลได้เร็วที่สุด ก็จะป้องกันเรื่องเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น” ศุภมาศให้ความเห็น

“บุคลากรผู้ปฏิบัติงานของเราก็ไม่ได้มีมาก เพราะโครงสร้างอัตรากำลังในระบบสาธารณสุขมีให้เราน้อยมาก ทั้งยังไม่มีความก้าวหน้าในอาชีพ หลายคนลาออกหรือย้ายไปทำงานที่อื่น”

หมดไฟ ไร้ความก้าวหน้า แต่ขอดูแลผู้ป่วยต่อไป

ย้อนกลับไปในปี 2561 กระทรวงสาธารณสุขประกาศปรับโครงสร้างอัตรากำลังบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อกระจายบุคลากรให้ครอบคลุมภาระงานที่ล้นมือ

การปรับโครงสร้างอัตรากำลังบุคลากรส่งผลให้จำนวนแพทย์และพยาบาลในกลุ่มงานจิตเวชของโรงพยาบาลทุกระดับมีจำนวนลดลง นอกจากนี้ ความก้าวหน้าในสายงานพยาบาลยังลดลง

โรงพยาบาลจังหวัดมีอัตรากำลังพยาบาลวิชาชีพในกลุ่มงานจิตเวชฯเหลือเพียง 2 คน โรงพยาบาลทั่วไป 1 คน และไม่มีโครงสร้างกลุ่มงานจิตเวชฯโรงพยาบาลชุมชน

ในตอนนั้น ชมรมพยาบาลจิตเวชและยาเสพติดสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขออกมาเรียกร้อง ขอให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนการจัดอัตรากำลังของกลุ่มงานจิตเวชฯและให้มีโครงสร้างชัดเจน โดยเฉพาะในระดับโรงพยาบาลชุมชนและจัดให้มีอัตรากำลังที่เหมาะสมตามสายงานวิชาชีพ

โดยให้ความสำคัญกับงานสุขภาพจิตและจิตเวชแทนที่จะแฝงงานเป็นภารกิจรองของกลุ่มงานอื่น เพราะปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น มีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น

“เราต้องดูแลสุขภาพจิตคนทุกกลุ่มวัย ปัญหาการฆ่าตัวตาย ปัญหาการติดสารเสพติด การติดสุรา การดูแลกลุ่มเปราะบางทางสังคม เร่ร่อน ผู้พิการ การดูแลตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุขเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รวมถึงการทำงานกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่ ซึ่งมีงานมากมายแต่โครงสร้างอัตรากำลังกลับไม่เอื้อ

เลยมีพยาบาลวิชาชีพด้านจิตเวชจำนวนมากที่หมดไฟ เพราะงานหนัก เหนื่อยและไม่ก้าวหน้า หลายคนก็ลาออกไป” ศุภมาศเล่า

ในแง่ของความก้าวหน้าด้านวิชาชีพ พยาบาลด้านจิตเวชถือว่ามีความก้าวหน้าน้อยมาก เพราะลักษณะงานที่ทำเป็นงานด้านคุณภาพ มีความซับซ้อนและใช้เวลามาก ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ในวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเพิ่มอัตราข้าราชการให้บุคลากรทางการแพทย์ 45,684 ตำแหน่ง แบ่ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มตำแหน่งข้าราชการแต่งตั้งใหม่ที่ให้บริการในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 จานวน 38,105 ตำแหน่ง และกลุ่มบรรจุนักศึกษาจบใหม่ในปี 2563 รวมแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล จำนวน 7,579 ตำแหน่ง

ซึ่งยังไม่มีความแน่ชัดว่าพยาบาลวิชาชีพด้านจิตเวชจะได้รับการบรรุจุจำนวนมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้บริหาร ว่ามองภาระงานจิตเวชเกี่ยวข้องกับการรับมือโรคโควิด-19 หรือไม่

“เรารู้สึกเหมือนไม่มีตัวตน” นั่นคือคำกล่าวสั้นๆ ที่บ่งบอกความรู้สึกของศุภมาศและพยาบาลวิชาชีพด้านจิตเวชอีกหลายคน

“ความไร้ตัวตน” ของพยาบาลด้านจิตเวช ยังเกิดจากธรรมชาติของงานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ที่ไม่ควรละเมิดหรือเปิดเผยตัวตนของผู้ป่วย จึงไม่สามารถบอกเล่างานที่ตนเองทำไปสู่สาธารณะได้อย่างเต็มปาก

“เราทำงานกับกลุ่มคนที่อาจถูกรังเกียจ ถูกตีตรา จริงๆเขาผ่านความทุกข์มาเยอะ ถูกสังคมกดดัน จนไม่กล้ากับเข้าสังคม แยกตัว อาจจะเคยถูกทุบตี หรือถูกกระทำมาก่อน ปัญหาเหล่านี้ไม่มีใครอยากให้เปิดเผยหรอก

และที่สำคัญเขาเองก็ไม่อยากบอกใครว่ามารับการรักษาทางด้านจิตเวช เพราะอับอาย กลัวคนรู้ กลัวคนรังเกียจ มองกลับกันถ้าชีวิตเราเองแย่ เราก็คงอับอายเราคงไม่อยากให้ใครรู้หรอก จริงไหม?”

เราทำงานกับผู้ป่วยจิตเวชซึ่งมีความเปราะบางทางจิตใจ เรายิ่งต้องระมัดระวังในการดูแลมากกว่าคนทั่วไป หากผิดพลาดแทนที่จะช่วยเขา กลับกลายเป็นการทำร้ายเขาก็ได้ อาจถูก Bully

อยากให้เกิดความรู้สึกดีกับการได้ดูแลผู้ป่วยและครอบครัว เห็นรอยยิ้ม เห็นการอยู่ร่วมกันในครอบครัวและชุมชนได้อย่างปกติสุข กับคำขอบคุณคือรางวัลของเราแล้ว เราภาคภูมิใจกับงานที่เราทำ”

แม้ว่าภาวะหมดไฟ กลายเป็น “New Normal” ของพยาบาลวิชาชีพกลุ่มนี้มานานหลายปีแล้ว แต่ก็มีหลายคนที่แสดงตัวชัดเจนว่าจะไม่ทิ้งงาน ไม่ทิ้งผู้ป่วย เพราะเชื่อว่า

“งานจิตเวชเป็นงานที่น้อยคนจะทำได้ เป็นงานที่ต้องทำจากความรักและเข้าใจจริงๆ ถ้าเราทำได้ก็ต้องทำเลย ไม่ต้องรอ ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะไม่มีใครพูดถึงเราก็ตาม”

ตลอดการทำงานที่ผ่านมา ศุภมาศเห็นการเปลี่ยนแปลงและอุปสรรคอย่างมากมายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิต แต่ก็ก้าวข้ามมาได้เพราะผู้บริหารเข้าใจ ช่วยเหลือและสนับสนุน รวมถึงพยาบาลจิตเวชเองก็มีความสามัคคีกัน จนเกิดยอมรับในวิชาชีพ

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากลุ่มงานงานจิตเวชจะได้รับการพิจารณาโครงสร้าง อัตรากำลังและความก้าวหน้าได้เท่าเทียมกับสายงานอื่นๆ” เธอทิ้งท้าย

ผู้เขียน : ปริตตา หวังเกียรติ