ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายนักสื่อสารประชาสัมพันธ์ รวมพลังเคลื่อนไหวในโซเซียล ติด #คนPRสาสุขที่ถูกลืม #เครือข่ายPRด่านหน้าโควิด พร้อมเดินหน้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม รมว.สธ.


หลังจากมีการเคลื่อนไหวจากหลากหลายกลุ่มบุคลากรที่ปฏิบัติงานโควิด-19 ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมการบรรจุข้าราชการรุ่นโควิด-19 เนื่องจากยังมีอีกหลายกลุ่มไม่ได้ถูกบรรจุ กระทั่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการ สธ. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ออกมายืนยันว่าจะต้องบรรจุได้ทันก.ย.นี้ ส่วนกลุ่มที่ตกสำรวจ หรือประสบปัญหาต่างๆแต่เป็นผู้ปฏิบัติงานโควิด-19 จะมีการพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือหลังวันที่ 30 ก.ย.2563 นั้น


ความคืบหน้าเรื่องนี้ ล่าสุด ในกลุ่ม “สมาพันธ์นักสื่อสารประชาสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข” ได้มีการแจ้งประชาสัมพันธ์ว่า เรียนพี่ ๆ น้อง ๆ ทุกท่าน ได้รับการประสานจากเครือข่ายทั่วประเทศว่า ขณะนี้ทีมแกนนำ PR ทั้งประเทศกำลังประชุมกันเพื่อจะยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องบรรจุให้กับน้อง ๆ ของพวกเรา ทีมงานได้จัดทำโปสเตอร์ในการแสดงพลังคนพีอาร์ รบกวนช่วยส่งต่อให้เครือข่ายเราช่วยกันโพสต์ด้วย เพื่อน้อง ๆ ของเรา และที่ทราบข้อมูลเบื้องต้นจากวงใน ยังไม่มีตำแหน่งของสายงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ของพวกเราอยู่ในคณะกรรมการพิจารณา

โดยในเฟซบุ๊กกลุ่มเครือข่ายนักสื่อสารแประชาสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เคลื่อนไหวใน Social Media ติด Hashtag (แฮชแท็ก) #คนPRสาสุขที่ถูกลืม #เครือข่ายPRด่านหน้าโควิด #เป็นคนPRมันน่าน้อยใจไม่ได้บรรจุเหมือนคนอื่นเขา #กระทรวงสาธารณสุข

ขณะเดียวกัน ทางเพจ สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป โพสต์ถึงการบรรจุในตำแหน่งของนักสื่อสารความเสี่ยง และประชาสัมพันธ์ กลับไม่มีชื่อได้รับการบรรจุ โดยใจความเนื้อหา ระบุว่า

“อนิจจาทิงเจอร์ นักสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ นักรบโควิดที่ถูกลืม ตามที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายขับเคลื่อนให้ทุกจังหวัด จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) และระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System : ICS) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และมีความเป็นเอกภาพ ในการจัดการภาวะคุกคามของโรคและภัยสุขภาพที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างรุนแรง หรือเป็นเหตุการณ์โรคและภัยสุขภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในพื้นที่ และมีโอกาสแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังพื้นที่อื่นๆ”

“ภารกิจสื่อสารความเสี่ยง (Risk Communication Team) เป็นหนึ่งในทีมปฏิบัติการหลัก ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) และระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System : ICS) ที่ต้องขับเคลื่อนการดำเนินงาน และมีการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว ในการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) นักสื่อสารความเสี่ยงต่างเข้าต่อกรกับข่าวปลอม ข่าวลือที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน เป็นด่านหน้าช่วยคัดกรองผู้คนในสถานพยาบาล ติดตามผู้บริหารไปยังพื้นที่การระบาด นัดนักข่าวสื่อมวลชนในการแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่องเสมอมา จนทุกวันนี้ทุกคนก็ยังคงยังทำหน้าที่นี้อยู่ เพราะสงครามโควิด19 ยังไม่จบ”

“แต่อนิจจา!!หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการตามมติ พร้อมทั้งออกหลักเกณฑ์แบ่งการบรรจุออกเป็น 3 รอบ “38,105” ตำแหน่ง อนิจจา กลับไม่มีสายอาชีพนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารความเสี่ยงเลย”