ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดรายละเอียดหลักๆ ยกระดับผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทอง ใกล้ที่ไหนฉายรังสีรักษาได้ที่นั่น ลดเวลารอคอย การรอคิวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เริ่ม 1 ม.ค.64 พร้อมพัฒนายกระดับสิทธิอื่นๆในอนาคต

หลังจากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจงข้อเท็จจริงนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ว่าเป็นการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีปัญหา 190 คลินิกเอกชนถูกยกเลิกจากระบบบัตรทอง ทำให้ประชาชนไม่มีหน่วยบริการประจำรองรับ จึงนำนโยบายใหม่นี้มาทดลอง โดยประชาชนที่รับบริการขอให้นำบัตรประชาชนพกติดตัว เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน และใช้สิทธิรับบริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563

ส่วนกรณีการยกเลิกใบส่งตัวเฉพาะกรณีผู้ป่วยในที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล และนำร่องในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 นครราชสีมา ใน 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งเป็นเขตสุขภาพที่มีประชากรประมาณ 7.5 ล้านคน และมีความพร้อมในการดำเนินการเริ่มในวันที่ 1 พ.ย. นี้เช่นกัน

ส่วนนโยบายยกระดับบัตรทองที่จะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค.2564 ในเรื่องการรับบริการของผู้ป่วยมะเร็งนั้น จะเป็นไปตามนโยบาย “มะเร็งส่งตรงถึงโรงพยาบาลเฉพาะด้านที่ไม่แออัด” ซึ่งเรื่องนี้ยังมีหลายคนสงสัยว่าผู้ป่วยมะเร็งจะเข้ารับบริการต้องดำเนินการอย่างไร และกรณีที่ระบุว่า จะมีการให้เคมีบำบัดที่บ้าน สรุปแล้วเป็นอย่างไร

เรื่องนี้มีคำตอบ โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษามะเร็งเป็นสิทธิประโยชน์ระบบบัตรทองอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาอาจเกิดความไม่สะดวก มีปัญหาคิวรักษาและความแออัดบริการ กรมการแพทย์วางแผนบริการให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้เข้าถึงการรักษาโดยเร็ว ซึ่งโรคมะเร็งอยู่ในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) กระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว สอดคล้องกับการปรับระบบบริการในครั้งนี้ โดยกรมการแพทย์มีสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลมะเร็ง 7 แห่งทั่วภูมิภาคเข้าร่วม ทั้งนี้จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการเข้ารับบริการทั้งหมด ทำให้เห็นภาพการเข้ารับบริการและสามารถกระจายคิวรักษาผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงได้

กรมการแพทย์มีแนวทางรักษามะเร็งอยู่แล้ว โดยจัดทำร่วมกับโรงเรียนแพทย์ เป็นมาตรฐานบริการผู้ป่วยมะเร็งโรงพยาบาลในสังกัด ดังนั้นทุกแห่งจึงเป็นมาตรฐานการรักษาและดูแลผู้ป่วยมะเร็งเดียวกัน ซึ่งสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาจากกองทุนบัตรทองได้ โดยในวันที่ 1 ม.ค.2564 จะมีระบบลงทะเบียนมะเร็งทั่วประเทศ ทำให้ทราบว่ารพ.ไหนมีเครื่องฉายรังสีรักษา หรือมีเตียงพร้อมในการให้บริการ ก็จะมีข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วยไปรับบริการใกล้บ้านได้ และไม่ต้องรอคิวนานในการฉายรังสีรักษาเหมือนในอดีตอีก นอกจากนี้ จากตัวอย่างของรพ.มะเร็งอุบลราชธานี ที่ร่วมกับยทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการรถให้กับผู้ป่วยที่จะมารักษา เพื่อลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของผู้ป่วย เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ป่วยต้องเหมาค่ารถกันมาเอง ก็จะมีการพิจารณาว่าจะดำเนินการในพื้นที่อื่นๆได้อย่างไร

ส่วนการให้ยาเคมีบำบัดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละพื้นที่และขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ซึ่งไม่ได้ให้เคมีบำบัดกับผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด แต่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ซึ่งเป็นในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะ 3 และ 4 ที่ไม่สามารถเดินทางไปรับยาเคมีบำบัดได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยึดประโยชน์แก่ผู้ป่วยมะเร็งเป็นสำคัญ

สรุปได้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 รพ.แห่งที่มีศักยภาพในการรักษามะเร็ง หากผู้ป่วยใกล้ที่ไหนสามารถรักษา หรือเข้าไปทำการฉายรังสีรักษาได้ โดยจะมีศูนย์ประสานงานให้ ไม่ต้องติดต่อสอบถามเอง...

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : สปสช.เคลียร์ชัด! บัตรทองรักษาได้ทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ พื้นที่กทม.เท่านั้น เริ่ม 1 พ.ย. 63