ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คืบหน้าตรวจภูมิคุ้มกันกลุ่มฉีดวัคซีนโควิด19 ทั้งประชากร บุคลากรการแพทย์ ผู้ป่วยภูมิฯน้อย คาด 3 เดือนรู้ภูมิคุ้มกันขึ้นมากน้อยแค่ไหน

 

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจภูมิคุ้มกันผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด ว่า สำหรับการตรวจภูมิคุ้มกันในผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วนั้น ขณะนี้ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ติดตามภูมิฯ ด้วยการเจาะเลือดของประชากรทั่วไปทั้งวัคซีนซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ส่วนศิริราชจะดูในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์  และรพ.รามาธิบดีและสถาบันมะเร็งแห่งชาติจะดูในกลุ่มผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยโรคมะเร็ง  นอกจากนี้ ยังมีการติดตามเรื่องเชื้อกลายพันธุ์โดยนพ.ยงเป็นผู้รับผิดชอบในการติดตามเชื้อกลายพันธุ์ ทั้งหมด 

"สำหรับการตรวจภูมิคุ้มกันคนฉีดวัคซีนโควิดนั้น ทั้งประชากรทั่วไป  บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยมะเร็ง ฯลฯ คาดว่าจะทราบผลภูมิคุ้มกันของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคที่ฉีดครบ 2 เข็มภายใน 3 เดือน ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกาน่าจะทราบว่าจะภูมิฯขึ้นหรือไม่ในเข็มแรก" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในเรื่องของวัคซีนพาสปอร์ตนั้น ขณะนี้มีโปรเจ็กต์ใหญ่เป็นความร่วมมือระดับอาเซียน โดย HITAP จะเป็นเจ้าภาพหลักในการทำนโยบายผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด19 หรือที่เรียกว่า CORESIA Study ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ใช้งบกว่า 10 ล้านบาท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้วัคซีนพาสปอร์ต  โดยจะศึกษาประเทศกลุ่มอาเซียน อย่างสิงคโปร์ อินโดนิเซีย เพื่อนำมาเป็นข้อเสนอให้กับผู้บริหารประเทศในการตัดสินใจว่า หากใครฉีดวัคซีนแล้วจะมีพาสปอร์ตเพื่อเข้าออกประเทศอย่างไร รวมทั้งการลดเวลากักตัว ซึ่งก็จะดูว่า จะลดเวลากักตัวอย่างไร ตั้งแต่ 7 วัน 10 วัน หรือ 14 วัน ก็จะนำข้อมูลต่างๆมาประกอบ รวมทั้งข้อมูลหลังรับวัคซีนภูมิคุ้มกันขึ้นมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น  ส่วนผลข้างเคียงจากโควิดนั้น ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์จะดูผลข้างเคียงทางระบบประสาทเฉพาะด้วย