ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยข้อมูลผลสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนโควิด19 ล่าสุด 57.8% ส่วนข้อกังวลอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน 54.7% ทั้งหมดสะท้อนแม้กังวล แต่คนไทยยังอยากฉีดวัคซีนโควิด สิ่งสำคัญอยู่ที่การสื่อสารข้อมูลรอบด้าน

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ในกลุ่มเป้าหมาย “ผู้สูงอายุ 60 ปี- 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง” ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนโควิด “หมอพร้อม” พบว่าพื้นที่ กทม. ล่าสุดจองแล้วประมาณ 41% ขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัดจองผ่าน อสม. และโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีการคีย์เข้าระบบโดยตรง ขณะที่เกิดคำถามว่า จริงๆแล้วประชาชนทั่วไปมีความต้องการในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และมีความกังวลต่อการฉีดวัคซีนครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน

เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ดร.พาหุรัตน์ คงเมือง ทัยสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการโครงการพระราชดำริฯ กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการทำแบบสอบถามประชาชนต่อความคิดเห็นเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19  ให้สัมภาษณ์ผ่าน Hfocus ว่า ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการจัดทำแบบสอบถามกรมควบคุมโรคโพล (DDC poll) : สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่องการป้องกันควบคุมโรคโควิด19 เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 สำรวจครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันโดยสำรวจมาแล้วทั้งหมด 34 ครั้ง แบ่งเป็นการสำรวจในพื้นที่ 25 จังหวัด จำนวน 4 ครั้ง และสำรวจออนไลน์ 30 ครั้ง

ดร.พาหุรัตน์ กล่าวว่า โดยการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล่าสุดเป็นครั้งที่ 31 ช่วงวันที่ 29 เมษายน - 13 พฤษภาคม 2564 มีประชาชนตอบแบบสอบถาม 103,692 คน เฉลี่ย 3,000 คน/ครั้ง โดยผู้หญิงตอบแบบสอบถามมากกว่าผู้ชาย อายุเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในกลุ่มอายุ 35-44 ปี อยู่ในวัยทำงานพนักงานบริษัทเอกชนเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาอยู่ในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ขณะที่พื้นที่ที่ตอบแบบสอบถามมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร สำหรับการสอบถามเรื่องความต้องการฉีดวัคซีนโควิดครั้งแรกตั้งแต่ช่วงวันที่ 7-21 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นมีวัคซีนในต่างประเทศ พบว่าประชาชนอยากฉีดวัคซีนสูงมากถึง 72% จากกลุ่มตัวอย่างเฉลี่ย 3 พันคน หลังจากนั้นเมื่อมีข่าวอาการไม่พึงประสงค์เปอร์เซ็นต์อยากฉีดลดลง โดยในช่วงเดือนมกราคม 2564 เหลือประมาณ 61% จากนั้นวันที่ 9-22 มีนาคม มีคนอยากฉีดวัคซีน 40.9% ซึ่งลดลง

“แต่ข้อมูลหลังเหตุการณ์ทองหล่อ ซึ่งเกิดการระบาดมากกลับพบว่า ตัวเลขคนอยากฉีดวัคซีนโควิดเพิ่มขึ้นมากถึง 53.5% ในช่วงวันที่ 14 -28 เมษายนที่ผ่านมา แต่เมื่อพิจารณาระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-13 พฤษภาคม (กรอบเวลาการสำรวจ 2 สัปดาห์) โดยยังไม่ครบรอบการสำรวจ เพียงแค่สัปดาห์แรกจะพบว่า คนอยากฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นถึง 56.8% และหากพิจารณาข้อมูลเรียลไทม์ 1 สัปดาห์กับอีก 3 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 เปอร์เซ็นต์ เป็น57.8% แสดงว่าคนอยากฉีดวัคซีนโควิดมากขึ้น” ดร.พาหุรัตน์ กล่าว

ส่วนความกังวลเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะมีข่าวออกมา รวมไปถึงข้อมูลยี่ห้อวัคซีนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กัน จนทำให้เกิดข้อกังวล ซึ่งตั้งแต่มีการทำโพลพบว่า ความกังวลเพิ่มขึ้น จากช่วงเดือนมกราคมกังวล 39.4% จนผลสำรวจล่าสุดวันที่ 14-28 เม.ย.พบมีความกังวลผลข้างเคียง 44.2% ขณะที่ข้อมูลสัปดาห์แรกของการสำรวจ(29 เม.ย.-13 พ.ค.) พบกังวลสูงถึง 54.7%

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการสำรวจทั้งความต้องการฉีดวัคซีน และความกังวลกรณีอาการข้างเคียงฉีดวัคซีนโควิด สะท้อนอย่างไร ดร.พาหุรัตน์ กล่าวอีกว่า สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง และต้องการการป้องกันตัวเอง นอกเหนือจากการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าแล้ว เพื่อนำมาป้องกันและลดความเสี่ยงติดเชื้อ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ออกไปนั้น ไม่ได้รับการตรวจสอบหรือสอบทานให้ดีพอจนทำให้เกิดข้อกังวลมากขึ้น จริงๆ คนไทยไม่ได้ฉีดวัคซีนครั้งแรก เพราะอย่างวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เราก็ฉีด และไม่เคยสอบถามยี่ห้อด้วย แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ และเกิดความต้องการอยากฉีดวัคซีนยี่ห้อที่แตกต่างกันไป จนทำให้เกิดการยึดติดยี่ห้อวัคซีน

“จริงๆคนถึงแม้จะกลัวอาการข้างเคียง แต่คนไทยก็ยังอยากฉีดวัคซีนโควิด ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องสื่อสารคือ อาการที่เกิดกับวัคซีนเป็นปฏิกิริยาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น อย่างกรณีฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ก็มีอาการปวดแขน มีไข้ได้ การสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก” ดร.พาหุรัตน์ กล่าว