ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข คือ นโยบาย “คนไทยทุกครอบครัว มีหมอประจำตัว 3 คน” หรือ นโยบาย 3 หมอ ที่เริ่มเดินหน้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ดี และเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการส่งเสริมสุขภาพแบบปฐมภูมิ

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเสวนาผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อ ถอดบทเรียนการดำเนินนโยบาย 3 หมอ โดยมี นพ.ฑิณกร โนรี นักวิจัย สวค. ภายใต้มูลนิธิสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ พญ.สุพัตรา ศรีวณิชากร อดีต ผอ. สพช. พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผอ. สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ นางมลวิภา กาศสมบูรณ์ รองนายแพทย์ สสจ. กำแพงเพชร นพ.วัชรพงษ์ วิศาลศักดิ์ ผอ. รพ.ทรายทองวัฒนา และนพ. สุธีร์ ช่างเจรจา หัวหน้าคลินิกหมอครอบครัวชากังราว รพ.กำแพงเพชร ร่วมอภิปราย

นพ.ฑิณกร โนรี นักวิจัย สวค. ภายใต้มูลนิธิสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากนโยบาย 3 หมอ ที่ส่วนกลางได้มอบหมายให้ทีมได้ดำเนินการตรวจสอบ ดูแล ประเมินผล ในพื้นที่ว่ามีการดำเนินการนโยบายอย่างไรนั้น ในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ เราได้ทำการเลือกมา 4 จังหวัด ที่มีผลงานและความเข้มแข็งมากที่สุด ประกอบด้วย กำแพงเพชร สระบุรี ร้อยเอ็ด และตรัง โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ซึ่งเราได้งบประมาณจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สวรส. โดยเราจะดูว่าในส่วนของพื้นที่มีการจัดระบบในเรื่องของ 3 หมอ อย่างไร ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล จนถึงระดับหมู่บ้าน

ในส่วนวัตถุประสงค์ คือ เราจะดูในเรื่องของการถอดบทเรียน การจัดการระบบบริการ ความสำคัญของบุคลากร การเงินการคลัง ถ้าจะใช้งบเพิ่มดึงงบประมาณ มาจากแหล่งทุนไหนบ้าง รวมถึงการจัดบริการที่ดีควรจะมีในเรื่องของทรัพยากรอย่างอื่นหรือไม่ เช่น ยาหรือเวชภัณฑ์เข้ามาด้วย รวมทั้งระบบการการติดตามงาน การประเมินผลการดำเนินการ ดูช่องทางการติดต่อของหมอ 3 คน ประชาชนมีปัญหาการติดต่อหรืออุปสรรคอย่างไร ประชาชนรับรู้อย่างไรบ้าง รวมทั้งการจัดบริการปฐมภูมิ ซึ่งหัวใจหลักเราคือประชาชน

“สุดท้ายข้อเสนอทั้งหมด ทีมงานวิชาการของเรา จะพัฒนาข้อเสนอเป็นเชิงนโยบาย เพื่อนำไปสู่การดำเนินยโยบาย 3 หมอ ใน 4 ภาคนี้ว่าสิ่งไหนที่ควรจะทำหรือมีอะไรไม่ควรทำ และอะไรคือปัญหาอุปสรรคที่ทีมงานจะเข้ามาช่วย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่อไป” นพ.ฑิณกร กล่าว

นพ.ฑิณกร กล่าวต่อว่า สำหรับกรอบแนวคิดเบื้องต้น เป้าหมายในการลงพื้นที่เรามีระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน และได้วางแผนไว้ว่าใน 1 ปี เราจะคุยกับพื้นที่ 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เป็นการชี้แจงโครงการให้กับทีมงานทั้ง 3 ระดับ คือจังหวัด อำเภอ ตำบล ครั้งที่ 2 ถ้าหากสถานการณ์โควิดดีขึ้น เราจะทำการลงพื้นที่ แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นจะเป็นการประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting เช่นเคย ส่วนครั้งที่ 3 เป็นการติดตามผลการดำเนินงาน ในตัวโครงการ นอกจากเป็นการลงพื้นที่ในแต่ละระดับแล้ว ยังมีการสัมภาษณ์ผู้บริหารแบบเจาะลึก มีการเก็บข้อมูลและใช้แบบสอบถามกับผู้ให้บริการในกลุ่มของตัวแทนชาวบ้านหรือตัวแทนคนไข้อีกด้วย

“ทั้งนี้ ถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้น เมื่อลงพื้นที่ครบทั้ง 3 พื้นที่แล้ว ในช่วงสุดท้ายของโครงการ เราจะมีการจัด workshop ที่ส่วนกลาง โดยจะเอาทุกพื้นที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน” นพ.ฑิณกร กล่าว

ด้าน พญ.สุพัตรา ศรีวณิชากร อดีต ผอ. สพช. กล่าวว่า เนื่องจากนโยบาย 3 หมอ ได้มีการดำเนินงานมาบ้างแล้วในทุกพื้นที่ในประเทศไทย อาจจะยังมีคนที่ไม่รู้จักหรือรู้จัก อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้ เพื่อที่จะได้เห็นว่ามันมีต้นทุนเดิมอะไรที่ดีหรือมีจุดด้อยอะไรบ้าง ถ้าจะยกระดับพัฒนางานปฐมภูมิของเรา รวมทั้งงานด้านสาธารณสุขจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้เราจะดูว่าในพื้นที่มีการดำเนินงานหรือติดตาม ด้วยว่าภายใต้นโยบาย ที่ให้มาสุดท้ายการทำงานจริง พื้นที่เองสามารถทำได้หรือไม่ มีอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคหรือข้อติดขัดบางอย่าง เป็นต้น

พญ.สุพัตรา กล่าวต่อว่า สุดท้ายนี้ไม่ใช่ว่าเป็นการเก็บข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่เราหวังว่าอย่างน้อยจะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่เองด้วย และเป็นประโยชน์ในการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคนที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ด้วย ในส่วนของพื้นที่ 4 จังหวัด เป็นพื้นที่นำร่อง ที่มีกำลังคนและกำลังเงินพอที่เราจะติดตามได้ เราจึงอยากเพิ่มคุณภาพของระบบปฐมภูมิจากนโยบาย 3 หมอ เชื่อมโยงกับชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำอย่างไรให้ยั่งยืน เราอยากมาเรียนรู้ไปพร้อมกับพื้นที่ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและพบเจออุปสรรคอะไรบ้างที่เราพอจะช่วยกันแก้ปัญหาและขับเคลื่อนนโยบายอีกต่อไป

ภายใต้ที่ว่า “รู้จัก รู้ใจ เข้าถึง พึ่งได้” ทำยังไงให้ประชาชนรู้จัก 3 หมอและ 3 หมอ รู้จักประชาชน

*ติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย 3 หมอในพื้นที่ได้ตอนต่อไป

ตอนที่ 2 การขับเคลื่อนนโยบาย 3 หมอ ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร

ตอนที่ 3 ถอดบทเรียน 3 หมอ ในพื้นที่ อำเภอทรายทองวัฒนา และ อำเภอชากังราว