ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปประเด็น 4 อาจารย์ต่อทางออกวิกฤตโควิด19 ระบาดหนัก!! ประเทศไทยต้องใช้วัคซีนป้องกันอย่างไรให้เหมาะสมในสถานการณ์วัคซีนมีจำกัด

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ยังพบผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งปัจจุบันในส่วนของภาครัฐ มีซิโนแวค และแอสตร้าเซนแนก้า ยังมีคำถามว่า จะสามารถป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่กำลังจะมาแทนที่สายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ) ได้หรือไม่นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นักวิชาการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น และข้อมูลทางวิชาการอัปเดตภายในงานเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร”

โดยผู้สื่อข่าว “Hfocus” สรุปประเด็นสำคัญในการเสวนา ดังนี้

** นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19)

-  ที่ประชุมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข สรุปว่าต้องมีการสื่อสารข้อมูลข้อเท็จจริงแก่ประชาชน โดยยึดหลักวิชาการ และต้องนำการแพทย์นำเป็นสำคัญ ซึ่งข้อมูลชัดเจนว่า หากต้องการฉีดวัคซีนโควิดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และลดการป่วยหนัก และเสียชีวิต ต้องมุ่งไปที่กลุ่มเสี่ยง ซึ่งก็คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง 2 กลุ่มนี้ต้องได้รับวัคซีนโควิดก่อนกลุ่มอื่นๆ เพราะข้อมูลพบว่า ผู้เสียชีวิตจากโควิดส่วนใหญ่ยังเป็น 2 กลุ่มนี้ ดังนั้น ก.ค. ต้องให้ได้วัคซีนโควิด 2 กลุ่มนี้เกิน 50% ให้ได้

-  ขณะนี้มีการศึกษาการฉีดวัคซีนสลับกันอยู่ อย่างคนฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 และฉีดวัคซีนชนิด mRNA เข็มที่ 2 ซึ่งภูมิฯสูงขึ้น แต่ไม่มีข้อมูลซิโนแวค และแอสตร้าฯ ซึ่งก็ต้องศึกษาอยู่ อย่างข้อมูล “หมอพร้อม” มีเกือบ 1,000 รายที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 แตกต่างกัน ซึ่งอาจเพราะมีอาการข้างเคียงเข็มที่ 1 ตอนนี้กำลังหาข้อมูลทั้งภูมิต้านทาน และผลข้างเคียง ซึ่งวัคซีน 2 ตัวปลอดภัย แต่มาใช้คู่กันก็ต้องมาดูฤทธิ์เสริม รวมทั้งผลข้างเคียงด้วย ตอนนี้ต้องรอผลการศึกษา

-  สิ่งสำคัญต้องขอให้ระวังตัวเอง อย่ารวมกลุ่มกันมาก สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ต้องช่วยกันเต็มที่ในระยะนี้

-  ตัวเลขเสียชีวิตจากโควิดพบว่า 70-80% คือ คนสูงอายุ หรือคนมีโรคเรื้อรัง ขณะที่คนหนุ่มสาว เมื่อติดเชื้ออาการจะไม่รุนแรงเท่า ดังนั้น ต้องใช้วัคซีนให้ตรงกับประสิทธิภาพเพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต จึงขอให้กลุ่มอายุอื่นๆ บางคนไม่มีอาการเมื่อติดเชื้อ แต่ญาติผู้ใหญ่ของเราหากป่วยจะเกิดการสูญเสียมาก ต้องใช้ไอซียูเพิ่ม และยังไปเบียดบังผู้ป่วยอื่นๆ ที่อาการรุนแรงอีก ดังนั้น ต้องช่วยกัน

******************************

** นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยาที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

-  ขณะนี้เราอยู่ในระลอก 3 จากสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราตั้งตัวไม่ทัน เรามีคนไข้เสียชีวิตประมาณ 50 คนต่อวันในขณะนี้

-  คำถามว่าเดือนหน้า เดือนถัดไป อัตราการเสียชีวิตจะเป็นอย่างไรบ้างผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดลงความเห็นตรงกันว่าสถานการณ์จะแย่กว่าเดิม เหตุผลเพราะสายพันธุ์ใหม่หรือสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เข้ามายึดครอง

-  เดือนมิ.ย. ที่ผ่านมาเรามีคนเสียชีวิตทั้งเดือน 992 คน ซึ่งเป็นภาระใหญ่มาก ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้เดือนก.ค.เราจะมีคนเสียชีวิตประมาณ 1,400 คน ส.ค. 2,000 และพอถึงเดือนก.ย.จะมีผู้เสียชีวิตเป็น 2,800 คน ตอนนี้เรามีผู้เสียชีวิต 900 กว่าคนยังทำให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าต่อไปไม่ได้และถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปก็แน่นอนว่าเราจะไม่สามารถไปรอดได้

-  ทางเลือกการใช้วัคซีนโควิดแบบปูพรมไม่เหมาะสม เพราะวัคซีนเรามีจำกัด ต้องใช้อีกทางเลือก คือ ยุทธศาสตร์ฉีดกลุ่มเป้าหมายที่เสี่ยงเสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เพราะคนสุงอายุติดเชื้อ 100 คนเสียชีวิต 10 คน แต่คนอายุน้อยติดเชื้อ 1,000 คน เสียชีวิต 1 คน

-  นายกฯ ศบค. รองนายกฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้เกี่ยวข้องต้องเลือกใช้วัคซีนให้ถูกเป้าหมาย โดย ศบค.ต้องสั่งให้ฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง 2 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ก่อนฉีดกลุ่มอื่น เพื่อลดการเจ็บหนักที่ต้องเข้าไอซียู ซึ่งตอนนี้วิกฤตหนัก และลดการเสียชีวิตลงให้ได้

-  สิ่งสำคัญคือ ผู้สูงอายุ ต้องระวังมากที่สุด เพราะหากติดเชื้อเสี่ยงเสียชีวิต 10% แต่ในชีวิตจริง ยังมีคนสูงอายุทำมาหากิน ค้าขายอีก ดังนั้นต้องกลับมาที่ประเด็นสำคัญ เอาวัคซีนให้ผู้สูงอายุก่อน เพื่อปกป้องเขาให้ได้

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม :  “หมอคำนวณ” เสนอทางเลือกลดวิกฤตโควิดระบาด ฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง “ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง”

 

*****************************

** นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ

-  ช่วง 3 เดือนนี้จะเป็นวิกฤต โดยเดลต้านั้น แอสตร้าฯ สู้ได้ แต่ซิโนแวค เห็นข้อมูลลางๆ แต่ยังไม่มีข้อมูลประจักษ์ ต้องศึกษาต่อ ดังนั้น จะสลับวัคซีนได้หรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องคอนเซ็ปต์ ต้องศึกษาอีก ซึ่งขณะนี้โรงเรียนแพทย์กำลังวิจัยกันอยู่

-  การศึกษาเรื่องเข็ม 3 ก็มีการดำเนินการอยู่เช่นกัน แม้กระทั่งเอา mRNA สลับเป็นเข็ม 2 หรือเป็นเข็ม 3 ได้ติดต่อบริษัท แต่ปัญหา คือ บริษัทไม่มีให้ แม้แค่การวิจัย เราขอแค่ 1 พันเข็ม บริษัทก็ยังไม่รับปาก ตอนนี้ทางออกเรื่องวัคซีน คือ ต้องหาๆ วัคซีน และฉีดๆ ให้ตรงเป้ามากที่สุด

- ในฐานะหมอเด็ก ขออธิบายเรื่องวัคซีนสำหรับเด็ก โดยเด็กเป็นกลุ่มที่โอกาสติดเชื้อน้อยกว่าวัยทำงาน แต่เด็กจะไม่ค่อยมีอาการ หรือมีอาการก็จะรุนแรงน้อย เสียชีวิตน้อย ซึ่งผู้สูงอายุเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่า ดังนั้น เวลาจะเอาวัคซีนมาใช้ในเด็กต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะเด็กแม้จะเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับวัคซีน แต่ที่เราระวังคือ ความปลอดภัย เพราะเป็นวัคซีนใหม่

-  ข้อมูลในจีนมีการใช้ซิโนแวคและซิโนฟาร์มในเด็ก ตั้งแต่ 3 ขวบจนถึง 17 ปี ขณะที่อินโดฯ ก็เริ่มมีการใช้

- ประเทศไทยกำลังดูข้อมูล ซึ่งในส่วนวัคซีนไฟเซอร์ ชนิด mRNA มีการระบุในเอกสารกำกับยาว่า กลุ่มวัยรุ่นอาจมีผลข้างเคียงของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งมักเกิดในเข็ม 2 และเกิดในเด็กผู้ชาย อัตราการเกิด 2 ต่อแสนโดส ดังนั้น กลุ่มกุมารแพทย์จะมีการพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบ

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : - “หมอทวี” เผยข้อแตกต่างวัคซีนซิโนแวค -แอสตร้าเซนเนก้า -วัคซีน mRNA กับสายพันธุ์เดลตา

 

**********************************

** นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

- จากแผนการผลิต วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะมีไม่ถึงเดือนละ 10 ล้านโดส ต้องนำเข้าวัคซีนชนิดอื่นเข้ามาในช่วง ก.ค. ส.ค. และก.ย. นี้ การจะให้แอสตร้าฯ นำเข้าจากแหล่งอื่นก็ตึงหมดเช่นกัน ซึ่งตอนนี้พยายามทุกวิถีทาง ในส่วนสยามไบโอไซเอนซ์กำลังเพิ่มกำลังผลิตอยู่

- สิ่งสำคัญต้องฉีดวัคซีนให้ตรงกลุ่ม คือ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคร่วมจะช่วยลดการเจ็บหนักและเสียชีวิต

- การจัดหาวัคซีนสามารถเจรจาแบบรัฐต่อรัฐได้หรือไม่นั้น ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศมีความพยายามกันอยู่ ไม่ใช่แค่วัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา กำลังใช้ช่องทางการทูตอยู่ระหว่างรัฐกับรัฐ เช่น วัคซีนคิวบา ซึ่งเป็นซับยูนิตโปรตีน ตัวแรกที่แสดงผลออกมามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค 92% น่าสนใจเพราะเป็นวัคซีนที่ค่อนข้างปลอดภัย รวมถึงเจรจราวัคซีน mRNA จากเจ้าอื่นด้วย รวมถึงวัคซีนเคียวแวค ของเยอรมันก่อนหน้าจะประกาศผลก็เจรจรา

-  วัคซีนในกลุ่มเด็ก ณ เวลานี้มีไฟเซอร์ ซึ่งได้จองไปแล้ว 20 ล้านโดส พร้อมกันนั้นกำลังทำการศึกษากระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็ก ของวัคซีนเชื้อตาย เพื่อให้เกิดช่องทางเลือก ซึ่งแอสตร้าฯกำลังศึกษาการใช้ในเด็กเช่นกัน รวมทั้งโมเดอร์นาก็กำลังศึกษา

- วัคซีนสำหรับเด็ก ยังต้องระวังเรื่องผลข้างเคียงด้วย ซึ่งก็มีการติดตามอยู่

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : - “หมอนคร” เผยแอสตร้าฯ เข้าไทยไม่ถึงเดือนละ 10 ล้านโดส จำเป็นต้องนำเข้าวัคซีนชนิดอื่น

************************