ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยข้อมูลบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 บูสเตอร์ โดส ใช้แอสตร้าฯ เหตุเพราะไฟเซอร์ยังไม่ส่งมาประเทศไทย ส่วนประชาชนทั่วไปฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม จะมีบูสเตอร์ โดสเช่นกัน แต่ต้องดูข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนก่อน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่12 ก.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีวัคซีนป้องกันโควิด ว่า ขณะนี้เรามีปัญหาสายพันธุ์เดลตา เข้ามากทม.เกือบ 50% แล้ว จึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนให้ต่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติให้ใช้วัคซีนที่เป็น บูสเตอร์ โดส แก่บุคลากรการแพทย์ที่ปฏิบัติงานกับผู้ป่วยโดยตรง มีความเสี่ยงสูงหลังจากรับวัคซีนเข็มที่ 2 หรือเข็มที่ 1 มาแล้ว จำเป็นต้องได้รับเข็มที่ 2 หรือเข็มที่ 3 ที่ต้องให้เกิดภูมิคุ้มกัน อาจเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ ชนิด mRNA โดยหลักการต้องต่างชนิดกัน และมีการปรับวิธีการฉีดวัคซีนใหม่ให้สลับชนิด เช่น ชนิดแรกเป็นเชื้อตาย วัคซีนถัดไปก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง อาจเป็นไวรัลแว็กเตอร์ หรือ mRNA ซึ่งมีข้อมูลวิชาการรองรับ โดยตรงนี้จะทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันดีขึ้น

ปลัด สธ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เรื่องวิธีการฉีดวัคซีน เราพบว่า 70-80% ที่เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และปัจจัยโรคร่วม เช่น อ้วน โรคเรื้อรังต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้คนไข้มีอาการหนัก จึงต้องฉีดวัคซีนให้กลุ่มนี้เป็นหลัก รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ด้วย จึงมีนโยบายให้ดำเนินการโดยเร็ว และอย่างน้อย 80% สำหรับคนกลุ่มนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการป่วยหนัก จนเสี่ยงเสียชีวิต เพื่อให้ระบบการสาธารณสุขดูแลได้ต่อไป ไม่มีผู้ป่วยเหนือกำลัง เพราะขณะนี้เรามีปัญหาผู้ป่วยอาการกลุ่มสีเหลือง และสีแดง ซึ่งหากเราฉีดกลุ่มนี้จะลดอาการรุนแรงได้ เรามีประสบการณ์จากประเทศยุโรป มีการฉีดในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แม้อัตราการติดเชื้อยังมาก แต่อัตราการเสียชีวิตลดลง

(ข่าวเกี่ยวข้อง : คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ มีมติใช้วัคซีนแอสตร้าฯ ฉีดบูสเตอร์ โดส บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า)

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีการฉีดวัคซีน 12,569,213 โดส เป็นเข็มแรก 9,301,407 โดส แสดงว่าประชาชนเกิน 10% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ในระยะต่อไปกระทรวงจะทยอยส่งมอบวัคซีนไปยังจุดฉีดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ล้านโดส และแนวปฏิบัติขณะนี้ เนื่องจากมีการระบาดค่อนข้างมากในกทม. และปริมณฑล ดังนั้น ใน 2 สัปดาห์นี้จะฉีด ผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค โดยเฉพาะพื้นที่ระบาด เช่น สัปดาห์นี้ จะส่งวัคซีนในกทม. 7 แสนโดส ใน126 จุดฉีดในกทม. และ 21 จุดฉีดนอกรพ.

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า โควิดเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ ความรู้มีการพัฒนา เชื้อมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา วัคซีนก็เหมือนกัน เรามีวัคซีนไม่ถึงปี มีความรู้ต่างๆ จะต้องมีการพัฒนาตลอดเวลา ดังนั้น วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีประเด็น 1. การให้วัคซีนโควิดสลับชนิดกันเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันได้สูง ซึ่งจากการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงการอุดมศึกษา ข้อมูล 3 แหล่งตรงกันว่าถ้าฉีดวัคซีนสลับชนิดกันจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง และเชื่อว่าจะสามารถต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา

“โดยการศึกษาได้ฉีดเข็มแรกเป็นซิโนแวค อีก 3-4 สัปดาห์ ฉีดเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนกา กระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงขึ้น เป็นตัวเลขในห้องปฏิบัติการได้ชัดเจน เชื่อว่าสามารถต่อต้านสายพันธุ์เดลตาได้ดีขึ้น เนื่องจากภูมิสูงเร็ว ใกล้เคียงกับได้รับแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ใช้เวลาสร้างภูมิฯ สั้นกว่า เดิม ฉีดแอสตร้าฯ ต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ถึงจะฉีดเข็ม 2 แต่ถ้าเราใช้วิธีนี้จะร่นเวลาสร้างภูมิคุ้มกันเร็วขึ้น ส่วนกรณีฉีดแอสตร้าฯ เข็มที่ 1 ข้อแนะนำยังให้ฉีดแอสตร้าเป็นเข็ม 2 ไม่มีการสลับชนิดตรงนี้ ” นพ.โอภาส กล่าว และว่า ถือเป็นข่าวดีที่เราจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เร็วขึ้น

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า อีกประการหนึ่งคือการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด้านหน้า ถึงแม้ว่าวัคซีนที่บุคลากรส่วนใหญ่ฉีดไป คือ ซิโนแวค 2 เข็ม มีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อ เช่น ที่ภูเก็ต พบว่าลดการตดเชื้อได้ 90% เชียงรายลดการติดเชื้อได้ 80-90% รวมถึงภาพรวมของประเทศไทยในบุคลากรการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อได้ 70% ลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้มาก แม้ไม่ 100% ก็ตาม ก็เป็นเหมือนกับทุกวัคซีนในโลกนี้ ที่ยังไม่มีวัคซีนไหนสามารถลดการติดเชื้อได้ 100% ไม่มีวัคซีนตัวไหนลดการเสียชีวิตได้ 100% ขณะที่เชื้อมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา สายพันธุ์ใหม่ๆ ก็อาจจะทำให้วัคซีนที่เราใช้มีประสิทธิภาพลดน้อยลงตามเวลา

“แนวคิดจึงให้บู๊สเตอร์โดส ห่างจากเข็ม 2 ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ซึ่งสอดคล้องกับผลารทดลองที่พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง คณะกรรมการวัคซีนฯ จึงมีมติฉีดบูส เตอร์โดส ให้บุคลากรสาธารณสุขด้านหน้า จากนี้จะแจ้งผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป”นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามว่าวัคซีนแอสตร้าฯ และไฟเซอร์ จะเริ่มฉีดบูสเตอร์ โดสให้บุคลากรทางการแพทย์ได้เมื่อไหร่ และในส่วนของกรณีประชาชนที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม แล้วจะได้รับการฉีดบูสเตอร์เมื่อไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ประการแรก วัคซีนไฟเซอร์ ที่บริจาคจากสหรัฐอเมริกายังไม่ได้ส่งมาที่ประเทศไทย กำลังหารือในรายละเอียด ทั้งจำนวน และเวลาส่งมอบ ประการที่ 2 การฉีดกระตุ้น ขณะนี้การดำเนินการจะใช้แอสตร้าฯ ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าก่อน โดยดำเนินการเมื่อมีความพร้อมทันที ส่วนประชาชนที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว การฉีดบูสเตอร์ โดน ก็จะดำเนินการต่อไป แต่ต้องดูข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วน

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

ด่วน! แรงงานแคมป์ ในกทม. ติดเชื้อโควิดผสม 2 สายพันธุ์ "เดลตา+อัลฟา" 7 ราย

สรุปชุด Antigen Test Kit ตรวจโควิดเอง ร้องขอผ่านคลินิกใกล้บ้าน คาดสัปดาห์หน้าเปิดขายในร้านขายยาที่มีเภสัชกร!

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org