ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ศ.นพ.ยง” เผยปัจจุบันสายพันธุ์เดลตา ครองประเทศไทยพบมากในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ขณะที่ปริมาณเชื้อในลำคอเยอะ ทำให้การแพร่กระจายง่าย การติดตามไทม์ไลน์การติดเชื้อจะยาก ส่วนกรณีโควิดผสมสองสายพันธุ์พบได้ เรียกว่า co-infection ที่ต้องจับตา คือ อย่าให้ไวรัสสองสายพันธุ์แบ่งตัวแลกชิ้นส่วนกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดขึ้น

เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชาการกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) ในประเทศไทย ว่า เดิมสายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ) แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์จี ทำให้อัลฟาครองโลก แต่ต่อมาโควิดสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) แพร่เร็วกว่าอังกฤษอีก 1.4 เท่า ทำให้ขณะนี้สายพันธุ์เดลตา กลบสายพันธุ์อัลฟาแล้ว ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยสายพันธุ์ที่ระบาดตอนนี้ คือ สายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะกทม. เป็นเดลตาประมาณ 70-80% และมีแนวโน้มระบาดทั่วประเทศ ส่วนสายพันธุ์เบตา(แอฟริกาใต้) เป็นสายพันธุ์ที่หลีกหนีวัคซีนเก่งสุด ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดต่ำมาก แต่เนื่องจากเบตา แพร่กระจายได้น้อยกว่า จึงขึ้นมาเบียดเดลตาไม่ได้

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ขณะนี้เดลตา จึงพบมากในประเทศไทย และผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอนนี้ เป็นสายพันธุ์เดลตา ประกอบกับปริมาณเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา ยังตรวจพบในลำคอจำนวนมาก ทำให้การแพร่กระจาย การติดต่อจากคนสู่คนง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก จึงอยากให้พี่น้องทุกคนตระหนักว่า การหาไทม์ไลน์การติดต่อสายพันธุ์นี้จะไล่ตามยากมาก เพราะติดต่อง่าย ดังนั้น ทุกคนต้องปฏิบัติการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากอนามัย 100% เว้นระยะห่าง สุขอนามัยต้องเต็ม 100% สิ่งนี้ป้องกันดีกว่าวัคซีนทุกวันนี้ ดังนั้น ไม่ว่าจะฉีดแล้วหรือกำลังรอ การปฏิบัติตัวยังต้องทำต่อเนื่อง

เมื่อถามว่าคนๆหนึ่งมีโอกาสติดโควิดผสมสองสายพันธุ์หรือไม่ ศ.นพ.ยง กล่าวว่า เป็นไปได้ หากชุมชนนั้นมีไวรัสสองตัวระบาดอยู่ โดยหากเราเกิดไปรับเชื้อจาก นายก. ที่รับสายพันธุ์อัลฟา ส่วนนาย ข.รับสายพันธุ์เดลตา ก็มีความเป็นไปได้ที่จะรับไวรัสสองสายพันธุ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติของไวรัส

“ แต่ที่ต้องกลัว คือ หากไวรัสสองสายพันธุ์นี้เกิดแบ่งตัวในหนึ่งเซลล์เดียวกัน และอาจมีแลกชิ้นส่วน จะเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่โคโรนาไวรัสที่ระบาดมา 1 ปีครึ่ง การแยกชิ้นส่วนแบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า รีคอมบิเนชั่น (Recombination) ส่วนที่พบปัจจุบันเราเรียกว่า co-infection ซึ่งหมายถึงในผู้ป่วย 1 คนเจอไวรัสสองตัว” ศ.นพ.ยง กล่าว