ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ประชุมหน่วยบริการใน กทม. เตรียมความพร้อมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) ด้าน สธ.ตั้งศูนย์ประสานงาน CCR Team สนับสนุนการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและลงพื้นที่แก้ปัญหาหน้างาน

 เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา สปสช.จัดประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสารสนเทศการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Isolation) ของหน่วยบริการในพื้นที่ กทม. สำหรับบันทึกเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการและระบบส่งต่อผู้ป่วยในชุมชน โดยมีตัวแทนหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกว่า 490 ราย

นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในส่วนของ สธ. จะเป็นหน่วยงานเสริมที่ช่วยให้หน่วยบริการปฐมภูมิหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นทำการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือที่ชุมชน (Home/Community Isolation) ให้ได้ดีที่สุด ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะมีหน่วยบริการปฐมภูมิ 178 ทีมที่ขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ส่วน CCR team ของ สธ.จะมี 10 ทีม ทำหน้าที่เหมือนหน่วยเคลื่อนที่เร็วลงไปช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ

นพ.โกเมทร์ กล่าวว่า CCR Team ทีมจะมี 8-10 คน ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ 1.ทีมคลินิก แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข 2.เครือข่ายภาคประชาชนหรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ในพื้นที่ที่จะช่วยติดตามการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือที่ชุมชนของผู้ป่วย และ 3.เจ้าหน้าที่เขตของ กทม. หรือทหาร เพื่อประสานในการลงพื้นที่

สำหรับขั้นตอนการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือที่ชุมชน ก็จะยึดแนวทางของกรมการแพทย์และ สปสช.เป็นหลัก คือผู้ป่วยจะได้รับหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล สำหรับกักตัวที่บ้าน 14 วัน พร้อมอาหารวันละ 3 มื้อ โดยแพทย์จะวิดีโอคอลติดตามอาการผ่านโปรแกรม AMED Telehealth ซึ่งเป็นระบบบริการทางการแพทย์ทางไกลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

“ขณะเดียวกัน หน่วยบริการเองก็จะได้รับการสนับสนุนถังออกซิเจน ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาฟ้าทะลายโจร เครื่องวัดความดัน อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ถุงมืออนามัย หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และชุดตรวจหาเชื้อแบบ Antigen Test Kit เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านอีกทางหนึ่ง ขณะที่ สธ.ได้ตั้งศูนย์ประสานงาน CCR Team เพื่อช่วยประกอบทีมในพื้นที่รับผิดชอบ ประสานติดต่อสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ การลงพื้นที่แก้ไขปัญหาร่วมกับ สปสช. สำนักอนามัยกทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรับเคสบางส่วนแล้วส่งให้ 1330 เป็นหลัก" นพ.โกเมทร์ กล่าว

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในส่วนของอาหารสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รับการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน สปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณค่าอาหารและค่าบริหารจัดการให้แก่โรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลมีหลายทางเลือกในการจัดการ เช่น ให้โรงครัวประกอบอาหารแล้วใช้รถโรงพยาบาลหรือรถของเครือข่ายไปส่งให้ผู้ป่วย หรืออาจใช้บริการบริษัทส่งอาหารก็ได้

ทั้งนี้ สปสช.ได้ติดต่อทั้งบริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ บริษัทที่ขนส่งอาหารอย่างเดียว หรือบริษัทที่ทั้งผลิตและขนส่งอาหาร รวมทั้งแพล็ตฟอร์มต่างๆที่โรงพยาบาลสามารถเป็นแอดมินแล้วมอบหมายบริษัทส่งอาหารไปส่งงานตามบ้านก็ได้ หรือจะให้ผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านสั่งอาหารเองตามวงเงินที่กำหนดไว้ก็ได้ โดยจะรวบรวมข้อมูลการติดต่อแต่ละบริษัทแล้วหากหน่วยบริการไหนสนใจจัดการในรูปแบบไหนก็สามารถไปหารือกันในรายละเอียดอีกครั้ง