ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณาจัดผู้ป่วยวิกฤตโควิดให้ได้เข้ารับการรักษาในระบบการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care)

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แถลงข่าวกรณีการออกประกาศรพ.ธรรมศาสตร์ฯ เรื่องหลักการพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ (Withholding Intubation) สำหรับผู้ป่วยโควิด 19 ว่า ประกาศดังกล่าวเป็นประกาศภายในของรพ. มีการใช้คำว่า “หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 19” แต่ไม่ไดใส่เนื้อหารายละเอียดลงไป ทำให้เมื่อมีประกาศดังกล่าวออกไปภายนอกจึงทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความไม่สบายใจในวงกว้าง เนื่องจากไม่ได้ทราบบริบทในการดูแลรักษาพยาบาลทางรพ.ต้องขอน้อมรับและปรับปรุง โดยการประชุมคณะกรรมการรพ.เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (23 ก.ค.) ได้มีการปรับปรุงแก้ไขประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาจัดผู้ป่วยวิกฤตโควิดให้ได้เข้ารับการรักษาในระบบการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยกรณีผู้ป่วยมีการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า โดยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร (Living will) ว่าไม่ประสงค์ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือ ครอบครัวตัดสินใจร่วมกับผู้ตัดสินใจแทนแล้วมีข้อสรุปว่าไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ

ส่วนกรณี ผู้ป่วยไม่ได้แสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า แต่แพทย์ผู้ดูแลพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องเข้าหลักเกณฑ์การรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่รพ.ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศที่ใช้สำหรับโรคต่างๆ แต่เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย การดูแลแบบประคับประคองจะมีหลักเกณฑ์ทางการแพทย์รองรับชัดเจน เช่น อายุ มากกว่า 75 ปี มีโรคประจำตัวที่ถึงเกณฑ์การดูแลแบบประคับประคอง เช่น โรคหัวใจ ปอด มะเร็ง ทั้งเป็นการตัดสินใจร่วมกันของผู้ป่วย ญาติ แพทย์ผู้รักษา ทำให้ผู้ป่วยค่อยๆ นอนหลับไป ไม่ได้เป็นการเร่งหรือยื้อการเสียชีวิต เป็นการเสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีตามธรรมชาติ

นพ.พฤหัส อธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องการดูแลแบบประกับประคองมีอยู่ในในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ที่กำหนดไว้สำหรับโรคต่างๆ อยู่แล้วโดยจะมีการทำหนังสือหรือวาจาว่าไม่ขอรับการรักษาด้วยวิธีใส่ท่อช่วยหายใจ หรือวิธีอื่นใด ทั้งนี้เมื่อถึงการระบาดของโควิด 19 ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนมากจนล้นรพ. เตียงไปซียูไม่เพียงพอที่จะรักษา ปัจจุบันเรามีเตียงการขยายเตียงไอซียู 16 เตียง แต่ก็ยังมีจำนวนผู้ป่วยต้องการไอซียูจำนวนมาก การขยายเตียงเพิ่มทำได้ยากเนื่องจากบุคลากรมีจำกัด แต่เมื่อคนไข้มาแล้วถ้าเรารักษาไม่ได้ มันก็เป็นความเจ็บปวดของรพ.และบุคลากรการแพทย์ ซึ่งไม่ใช่แค่รพ.ธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ในโรงเรียนแพทย์ รพ.ต่างจังหวัดก็จะมีภาพที่ผู้ป่วยนอนหน้าห้องไอซียู หน้ารพ. การแก้ไขตรงนี้ทำได้ยากเพราะถ้ายังมีคนไข้นอนไอซียูอยู่ก็ไม่สามารถเอาคนไข้ใหม่เข้าไปได้ การจะใส่ท่อช่วยหายใจโดยไม่ได้ทำในห้องไอซียูก็เป็นเรื่องยาก และอันตราย แต่เราจะสามารถแก้ไขสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวาระสุดท้ายของชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมีศักดิ์ศรี ให้ได้รับการดูแลบางอย่างจากทางรพ.ได้

“บริบทการดูแลผู้ป่วยโดยไม่ใช้ท่อช่วยหายใจ ซึ่งเราจะมีวิธีการทางการแพทย์ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกทุกข์ทรมาน ไม่ให้มีความวิตกกังวล ไม่ให้มีภาพของอันไม่น่าดู ก็เหมือนกับผู้ป่วยค่อยๆ นอนหลับสงบโดยที่เราไม่ได้มีการเร่งหรือว่ายื้อการเสียชีวิต เป็นการเสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีตามธรรมชาติ นี่คือหลักการโดยเนื้อแท้ของการรักษาแบบประคับประคอง เพราะฉะนั้นถ้าดูบริบทภาพรวมทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็จะเข้าใจตามที่รพ.ออกประกาศ อย่างไรก็ตามการปฏิบัติต้องมีการตัดสินใจร่วมกัน ทั้งในส่วนของกรรมการต่างๆ การตัดสินใจของผู้ป่วยและญาติในการดำเนินการที่จะไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ” นพ.พฤหัส กล่าว