ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมส่งเสริมนโยบายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  ปี 65 ผลักดันพัฒนาการวิจัยต่อยอดการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพร สู้ภัยโควิด 19 ต่อเนื่อง พร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรแชมเปี้ยน และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประเทศ หวัง ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ตั้งเป้าปี 2570 ไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิมของเอเชีย และเป็น Word Herb Hub ในปี 2580

วันนี้ (27 ตุลาคม 2564) ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และเยี่ยมชมนิทรรศการ “กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” โดยมี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ

ดร.สาธิต กล่าวว่า ในปี 2564 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อให้บริการประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19  อาทิ “ฟ้าทะลายโจร สู้ภัยโควิด” นำไปใช้ในผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อย ลดการเกิดโรครุนแรง และผลักดันฟ้าทะลายโจรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ นำไปใช้ในรพ.สนามหรือเรือนจำ กว่า 1.5 แสนราย ประหยัดงบประมาณได้ถึง 685 ล้านบาท

“กัญชาทางการแพทย์แผนไทย” บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ 4 ตำรับ ได้แก่ ศุขไสยาศน์ แก้ลมแก้เส้น ทำลายพระสุเมรุ และน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 193 แห่ง และสร้างแหล่งปลูกกัญชาแปลงใหญ่ 6 แห่ง ทำให้ประชาชนเข้าถึงยากัญชา 441,392 ราย มีการกระจายยากัญชาสู่คลินิกกัญชาฯ 691 แห่ง ทั่วประเทศ พร้อมกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด คาดว่าเกษตรกรเกิดรายได้หมุนเวียนกว่า 48 ล้านบาท และช่วยลดค่าใช้จ่ายการนำเข้ายาจากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาท/ปี 

“สมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจและเชื่อมโยงการท่องเที่ยว” ใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร สร้างรายได้ให้เกษตรกรนำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อาทิ เชียงราย อุดรธานี พิษณุโลก สงขลา ลำปาง เป็นต้น

“เพิ่มการเข้าถึงบริการและสิทธิประโยชน์” ให้บริการด้านการแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่กับแพทย์แผนไทยในสถานบริการทั่วประเทศกว่า 878 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 98 และให้บริการแพทย์แผนไทยในคลินิกเฉพาะโรค รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ เช่น คู่มือการทำหัตถการ แนวทางการนวดไทย อัตลักษณ์ไทย การเตรียมเครื่องยาไทย และสร้างโรงงานสมุนไพร WHO-GMP ที่ได้มาตรฐานกว่า 47 แห่ง นอกจากนี้ ยังพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้ได้สะดวกและหลากหลาย อาทิ แอปพลิเคชัน Dr.Ganja in TTM, Ganja Chatbot, Line OA : Fah First AID, หมอแผนไทยสู้ภัยโควิด เป็นต้น 

“กรมการแพทย์แผนไทยฯ ต้องวางพื้นฐานสนับสนุนส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสมุนไพรเพื่อฟื้นฟูสุขภาพอย่างมีคุณภาพ และให้บริการแพทย์แผนไทยในด้านเศรษฐกิจเชิงสุขภาพ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศหลังโควิด 19 อาทิ ส่งเสริมการใช้กัญชา กัญชง ทางการแพทย์, ใช้สมุนไพรในการรักษาเบื้องต้นในระดับปฐมภูมิ, ส่งเสริมผลิตภัณฑ์แชมเปี้ยน เพื่อให้ชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน รวมทั้ง ขยาย รพ.แพทย์แผนไทยในจังหวัดสำคัญ หรือจังหวัดที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์” ดร.สาธิตกล่าว

 

สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในปี 2565 เน้น 4 ประเด็น ได้แก่

  1. การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ร่วมสู้ภัยโควิด-19 วิจัย ต่อยอดสมุนไพรดูแลผู้ป่วยโควิด โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก โดยมุ่งบูรณาการแพทย์แผนไทย/แพทย์ทางเลือกในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ IMC/ Palliative care ลดภาระด้านสุขภาพของประเทศและสร้างองค์ความรู้แก่ประชาชนอย่างถูกต้อง
  2. พัฒนากัญชา กัญชง กระท่อม สู่นวัตกรรมการดูแลสุขภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มผู้ปลูกกัญชา ให้มีวัตถุดิบมาตรฐาน พัฒนาต้นแบบและวิจัยผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง และกระท่อม เพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์และการตลาด พร้อมถ่ายทอดมาตรฐานและองค์ความรู้สู่การใช้กัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ
  3. พัฒนาศูนย์บริการและวิชาการ ระดับเขตฯ ที่เขตฯ 8 จ.อุดรธานี เพื่อเป็นต้นแบบในการให้บริการที่ครบวงจร เช่น คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย คลินิกเฉพาะโรคผสมผสานการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และการแพทย์แผนจีน เชื่อมต่อสถานบริการในพื้นที่และเป็นหน่วยประสานงานเชื่อมโยงภารกิจงานการแพทย์แผนไทยในส่วนภูมิภาค
  4. ยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ฟื้นฟูประเทศ หลังสถานการณ์โควิด โดยส่งเสริมผู้ประกอบการ พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเมืองสมุนไพรให้เป็นจุดหมายการท่องเที่ยว และยกระดับผู้ประกอบการในจังหวัดท่องเที่ยวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพดี (Wellness Center) ทั้งนี้ ตั้งเป้าในปี 2570 ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิมของเอเชีย และเป็น World Herb Hub ในปี 2580