ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดข้อมูลความสำคัญกลุ่มเสี่ยง “608” ผู้สูงอายุ – โรคประจำตัว - หญิงตั้งครรภ์ เพราะอะไรต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ขอทุกคนช่วยสื่อสาร แม้ข้อมูลฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น แต่ยังพบกว่า 10 ล้านไม่ได้รับวัคซีน ห่วงกลุ่มเสี่ยงพลาดโอกาส เหตุเดลตาระบาดครองเมือง ติดเชื้อแล้วระบาดแล้ว ไม่ได้รับวัคซีนมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนรับวัคซีน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 พ.ย.2564 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดเสวนาออนไลน์ “เปิดข้อมูล (ไม่) ลับ กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ” โดย นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบัน กลุ่มแผนปฏิบัติการชาติฯ สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลถึงเดือน พ.ย. พบว่า โควิดสายพันธุ์เดลตาครองเมืองมากที่สุดถึง 99.74% ส่วนสายพันธุ์ที่คนกังวล อย่าง เบตา ขณะนี้ยังโฟกัสอยู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ส่วนผลการศึกษาวิจัยของวัคซีนป้องกันโควิด19 ในประเทศไทยว่า สามารถป้องกันได้หรือไม่นั้น ข้อมูลจากศูนย์วิจัยของศิริราช พบว่า วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันดี แต่น้อยกว่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ส่วนวัคซีนสูตรไขว้ ฉีดเข็มแรกไม่แตกต่างจากซิโนแวค 2 เข็ม แต่เมื่อฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น เรียกว่าการปูพื้นด้วยวัคซีนเชื้อตาย และตามด้วยไวรัลแวกเตอร์ ปรากฏว่าภูมิคุ้มกันดีมาก

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า สรุป คือ การใช้วัคซีนซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ หรือ แอสตร้าตามด้วยไฟเซอร์ หรือซิโนแวคตามด้วยไฟเซอร์ ภูมิคุ้มกันดีมาก กระตุ้นสูง จึงเป็นที่มาของสูตรที่มีการรับรองและเริ่มใช้อย่างเป็นทางการ คือ ซิโนแวค+แอสตร้า ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ , แอสตร้า + ไฟเซอร์ ห่างกัน 4-12 สัปดาห์ , แอสตร้า+แอสตร้า ห่างกัน 8-12 สัปดาห์ และสูตรไฟเซอร์+ไฟเซอร์ ห่างกัน 3-4 สัปดาห์

" สำหรับการครอบคลุมการฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งยังเหลืออีกกว่า 10 ล้านคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนนั้น ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ และตนเคยสอบถามคนไข้ของตัวเอง พบว่า ที่ไม่รับวัคซีน เพราะรอวัคซีนอีกชนิด ทำให้พลาดโอกาส เพราะติดเชื้อก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ในไอซียู จึงไม่อยากให้รอ ขอให้ฉีดวัคซีนที่มีก่อน และค่อยกระตุ้นภูมิคุ้มกันทีหลังได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า คนที่ฉีดมาแล้ว เมื่อป่วยความรุนแรงลดลงมาก"

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลหมอพร้อม จะเห็นว่า คนที่ได้รับเข็ม 1 เกิน 80% ซึ่งในระบบหมอพร้อมจะทำเป็นสีฟ้า อย่างไรก็ตาม หากมองภาพรวมค่าเฉลี่ยเข็มหนึ่งประมาณ 70% ซึ่งยังขาดอีกประมาณ 30% ส่วนคนที่ได้รับ 2 เข็ม จะเห็นว่าสีฟ้ามีการฉีดไปแล้ว 80% คือ กรุงเทพฯ และภูเก็ต แต่ภาพรวมของทั้งประเทศที่ฉีด 2 เข็มไปแล้วประมาณ 58.32% ดังนั้น หากพิจารณาแผนการฉีดวัคซีนในเดือน ธ.ค. 2564 นั้น โดยหลักประชากรต้องได้วัคซีนประมาณ 50 ล้านคน หรือ 100 ล้านโดส ซึ่งคาดการณ์แล้วเราจะจัดหาวัคซีนได้มากกว่า 100 ล้านโดส โดยได้ถึง 128.6 ล้านโดส

“ดังนั้น จึงมีการปรับเป้าหมายใหม่ในการฉีดวัคซีนโควิดสิ้นปี 2564 โดยการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ต้องฉีดครอบคลุมให้ได้อย่างน้อย 70% ในเดือนพ.ย. 2564 และในเดือน ธ.ค. 2564 ต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 80% ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมาย พวกเราต้องช่วยกัน ตอนนี้เรามีวัคซีนมาก แต่อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันมาฉีดวัคซีนให้ได้มากอย่างครอบคลุมที่สุด ตอนนี้เรามีวัคซีนมาก วัคซีนมีคุณภาพ มีปริมาณเพียงพอ ” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญขอย้ำการฉีดวัคซีน 3 กลุ่มหลัก คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า อัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยโควิด แบ่ง 3 กลุ่ม ทั้งหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ พบว่า หากไม่ได้ฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ จะมีโอกาสเสียชีวิตหากติดเชื้อ 16% แต่หากฉีดวัคซีนโควิดจะเหลือ 6% ส่วนกลุ่มโรคเรื้อรังหากไม่ได้ฉีดวัคซีนมีโอกาสเสียชีวิต 79% หากฉีดวัคซีน 18% ไม่ระบุ 5.8% ขณะที่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หากไม่ได้ฉีดวัคซีนมีโอกาสเสียชีวิต 1.6% หากฉีดวัคซีน 3.2% ทั้งนี้ ตัวเลขหญิงตั้งครรภ์ ที่ออกเป็นเช่นนี้ เพราะจำนวนตัวอย่างน้อย ตัวหารน้อย หากฉีดจำนวนมาก ตัวเลขหากฉีดวัคซีนจะลดลง สรุปคือ มาฉีดวัคซีนดีกว่า

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด กรณีอาการรุนแรงจะพบว่า ซิโนแวค 7 ในแสนโดสที่มีอาการแพ้รุนแรง เช่น มีผื่นภาวะช็อก ส่วนแอสตร้า 6 ในแสนโดส ไฟเซอร์ประมาณ 4.63 ในแสนโดส ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยกรณีผู้เสียชีวิตภายหลังรับวัคซีนที่ได้รับรายงาน 1,436 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญฯ ได้รับพิจารณาแล้ว 951 ราย ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องวัคซีน เป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่น 620 ราย มีที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 4 ราย อย่างมีอาการแพ้รุนแรง ภาวะช็อก 1 ราย มีภาวะผื่นแพ้ผิวหนัง 1 ราย และมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากวัคซีนน้อยมาก เมื่อเทียบกับการติดเชื้อจากโควิดแล้วเสียชีวิตสูงกว่าประมาณ 1-2 %

“ สรุป คือ กลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับวัคซีนอย่างเร่งด่วน ที่เรียกว่า กลุ่ม “608” ประกอบด้วย 1. กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 2.กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และ 3. กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ขอให้รับวัคซีนป้องกันโควิดอย่างเร่งด่วน” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

ด้าน พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งเสริมจาก นพ.วีรวัฒน์ ว่า ข้อมูลอย่างหนึ่งจากผู้ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุข พบว่า เราฉีดวัคซีนถึง 60% แต่การจะขึ้นไปถึง 70% ค่อนข้างยากมาก เพราะยังมีกลุ่มลังเล ไม่มั่นใจมารับวัคซีน แม้ตอนนี้ตัดปัญหาไม่มีวัคซีน จึงอยากให้คนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 หรือ 3 เข็ม ช่วยกันดูว่า คนที่ไม่มาฉีด แม้เข็มที่ 1 ขอให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับพวกเขา ซึ่งนพ.วีรวัฒน์ ให้ข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่ง ว่า ขณะนี้เดลตาครองเมือง ซึ่งเดลตาระบาดทั่วประเทศไทย และจังหวัดไหนฉีดวัคซีนไม่มากพอ จะระบาดอย่างกว้างขวางได้

“ประเด็นต่อมาหากไม่ได้ฉีดวัคซีนและติดเดลตา ซึ่งหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ เป็นคนมีโรคประจำตัว หรือหญิงตั้งครรภ์ โอกาสป่วยหนัก นอนไอซียู ถ้าลังเล เพราะอยากเลือกอะไรบางอย่าง มันมีราคาของการรออันนั้น ซึ่งราคานั้น หมายถึงการเป็นโรคหนัก จนเสียชีวิต เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะตอนนี้เรามีวัคซีน มีประสิทธิภาพเพียงพอ เรื่องนี้จึงขอให้ทุกคนช่วยกันสื่อสารพวกเขา เพื่อให้ได้วัคซีนโควิดอย่างทั่วถึง” พญ.สุเนตร กล่าว

 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org