ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.สั่งการ รพ.สังกัดทุกแห่งเตรียมพร้อมรับ "สงกรานต์"  ขอให้ รพ. ทุกแห่งเพิ่มจำนวนบุคลากรให้มากขึ้นจากช่วงปกติ เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับบุคลากรและผู้ป่วยขณะนำส่ง  พร้อมประสานตำรวจตรวจตราความเรียบร้อยเป็นระยะเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาล  ย้ำ! คนมาทะเลาะวิวาทในรพ. จะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด

 

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข   นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข   กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้หน่วยงานและโรงพยาบาลในสังกัด สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ที่ส่วนกลางและจังหวัด เพื่อประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลสนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นของ อปท. ฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ของโรงพยาบาลและเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทุกระดับ เตรียมหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 

รวมทั้งทางอากาศและทางเรือ จัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน (BLS) และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง (ALS) ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/จุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ หากเป็นการบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามข้อบ่งชี้ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) เข้ารับบริการโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนี่ใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ขอให้โรงพยาบาลทุกแห่งเพิ่มจำนวนบุคลากรให้มากขึ้นจากช่วงปกติ เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับบุคลากรและผู้ป่วยขณะนำส่ง ดำเนินการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยยกเว้นค่าเจาะเลือดและค่านำส่ง หากส่งตัวอย่างเลือดไปศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกเขต จะได้รับการยกเว้นค่าตรวจวิเคราะห์ ประสานตำรวจตรวจตราความเรียบร้อยเป็นระยะเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาล และให้รีบแจ้งเหตุเมื่อมีผู้เข้ารับการรักษาจากเหตุทะเลาะวิวาท เพื่อส่งเจ้าหน้าที่และกำลังพลให้เพียงพอต่อการระงับเหตุและดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการ

รองปลัด สธ. กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ก่อเหตุให้ดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง สำหรับการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ตั้งด่านชุมชน ด่านครอบครัว สกัดกั้นกลุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุและคัดกรองโควิด 19 พร้อมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนในการเลือกอาหารสะอาดปลอดภัยในงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง เน้น "กินร้อน ช้อนตนเอง ล้างมือ" 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “สาธิต” ลุยเข้มมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจราจร ชี้ตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด อีกทางเลือกเป่าวัดเมา...)

“ช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ขณะที่คนส่วนใหญ่ได้หยุดอยู่กับครอบครัว บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาประชาชน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 มีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลเฉลี่ยวันละเกือบ 3,000 ราย ซึ่งเป็นปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติอย่างมาก คาดว่าสงกรานต์ปีนี้จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นและมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นตามมา เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ ขอให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุ ด้วยการ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับเจ้าหน้าที่ และท่องเที่ยวได้อย่างมีความสุข"  นพ.ธงชัย กล่าว

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมดูแลประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยขอความร่วมมือพี่น้อง อสม.ร่วมรณรงค์ลดอุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ดังนี้ 1.ร่วมตั้งด่านชุมชนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและผู้เกี่ยวข้อง เมื่อผู้ขับขี่มายังด่านชุมชน อสม.และเจ้าหน้าที่ด่านชุมชนสังเกตลักษณะทางกายภาพ (เดินโซเซ ตาเยิ้มแดง มีกลิ่นเหล้า) มีอาการมึนเมาสุรา  ขัดขืนไม่ยอมทดสอบ แจ้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย หากไม่มีอาการมึนเมา   ให้กลับบ้านได้ 

และ 2.ทดสอบผู้ขับขี่ที่สงสัยว่าดื่มแล้วขับที่อยู่ในชุมชน โดยใช้การสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น คือ 1) "แตะจมูกตัวเอง" ยืดแขนไปข้างหน้าแล้วชี้นิ้วออกไป จากนั้นให้งอศอกและเอานิ้วมาแตะที่ปลายจมูกโดยไม่ลืมตา หากแตะจมูกที่ปลายจมูกไม่ได้ แสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในภาวะเมาสุร  2) "เดินแล้วหัน" ยืนตัวตรง เดินสลับเท้าโดยให้สันชิดปลายเท้าเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า 9 ก้าว แล้วหันตัวด้วยเท้า 1 ข้าง จากนั้นเดินสลับเท้าแบบส้นชิดปลายอีก 9 ก้าว หากไม่สามารถเดินให้ส้นเท้าชิดปลายเท้าได้ ต้องใช้แขนช่วยพยุงหรือล้มเซ แสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในภาวะมึนเมาสุรา 

และ 3) "ยืนขาเดียว" ให้บุคคลนั้นยืนตัวตรง ยกขาข้างหนึ่งขึ้นจากพื้น 15 เซนติเมตร เริ่มนับ "1000, 1001, 1002... จนกว่าจะครบ 30 วินาที หากตัวเซ วางเท้าลง เขย่ง หรือใช้แขนทรงตัวแสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในสภาวะมึนเมาสุรา ทั้งนี้ หากพบมีอาการมึนเมา ให้นั่งพัก ประเมินซ้ำทุก 30 นาที หากไม่มีอาการมึนเมาสุรา ให้กลับบ้านได้ หากพบมีอาการมึนเมาสุรา  แจ้งญาติหรือเพื่อนมารับกลับบ้าน

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org