ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

        ในสหรัฐอเมริกา การใช้กัญชาที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ (เช่น เพื่อการสันทนาการและเพื่อบริโภค) นั้นถูกทำให้ไม่ผิดกฎหมาย (Legalization) ใน 19 รัฐ (รวมถึงกวม หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา และดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย) และระบุว่าการใช้กัญชามิใช่อาชญากรรมใน 12 รัฐ (รวมถึงหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา) จากข้อมูลอัปเดต ณ เดือนพฤษภาคม 2565 (1)

          ในระดับรัฐบาลกลาง กัญชายังคงถูกห้ามไม่ให้ใช้ภายใต้กฎหมายสารควบคุมปี 1970 แต่โดยทั่วไปกระทรวงยุติธรรมไม่ได้บังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลกลางในรัฐที่ออกกฎหมายให้กัญชาเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ในเดือนธันวาคม 2563 ร่างกฎหมายเพื่อขจัดกัญชาออกจากพระราชบัญญัติควบคุมสารได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา แต่วุฒิสภาไม่ได้ลงคะแนน กระนั้นก็ตาม รัฐบาลกลาง "ไม่ได้แทรกแซง" กฎหมายระดับรัฐที่ทำการผ่อนปรนเรื่องกัญชา

          กระบวนการทำให้การใช้กัญชามิใช่อาชญากรรม (Decriminalization) เป็นก้าวสำคัญของสหรัฐฯ เพราะหลายรัฐยังไม่พร้อมกับการเปิดเสรี ซึ่งกระบวนการนี้ก็คือนโยบายการลดบทลงโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับกัญชา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นบทลงโทษทางแพ่งสำหรับการครอบครองจำนวนเล็กน้อย (คล้ายกับการปฏิบัติต่อการละเมิดกฎจราจรเล็กน้อย) แทนที่จะเป็นการดำเนินคดีทางอาญาหรือการขู่ว่าจะจับกุม หากเป็นในพื้นที่ที่ไม่มีการลงโทษใดๆ เลยเรียกว่ากระบวนการทำให้ไม่ผิดกฎหมาย (Legalization)

          คำว่า Decriminalization และ Legalization ยังสะท้อนวิวาทะที่ดำเนินอยู่ในสหรัฐฯ เช่นกัน นั่นคือฝ่ายที่สนับสนุนให้เปิดเสรีกัญชากับฝ่ายที่ต่อต้านการเปิดเสรีกัญชา

          ฝ่ายที่สนับสนุนมีเหตุผลมากมายนอกเหนือจากการใช้งานเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น ชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น ในโคโลราโดในปี 2563 รัฐบาลของรัฐและท้องถิ่นได้รับรายได้จากภาษีกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์จากภาษีกัญชา (2) และยังมีข้ออ้างว่าการให้ใช้กัญชาเสรีจะช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงได้ เช่น การศึกษาใน Journal of Policy Analysis and Management เมื่อปี 2553 ประเมินจากผลการสำรวจพบว่ามากกว่าร้อยละ 41 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาชอบใช้กัญชาแทนแอลกอฮอล์ ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น 'มีอาการถอนกว่า', 'ผลข้างเคียงน้อยลง' เป็นต้น (3)

          ในสหรัฐอเมริกายังมีเหตุผลสำคัญอีกอย่างคือ การ Decriminalization และ Legalization กัญชาจะช่วยลดความแออัดของเรือนจำลงได้ เพราะนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 หลังจากที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ดำเนินนโยบาย "สงครามต่อต้านยาเสพติด" (War on drugs) โดยประกาศว่ายาเสพติด (รวมถึงกัญชา) เป็น "ศัตรูสาธารณะหมายเลขหนึ่ง" หลังจากนั้นสหรัฐฯ ก็ดำเนินการปราบปรามผู้ใช้และครอบครองยาเสพติดอย่างหนักแม้แต่ผู้ที่ครอบครองจำนวนเล็กน้อย ทำให้เรือนจำแออัดไปด้วยผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากสงครามต่อต้านยาเสพติด ทำให้สิ้นเปลืองภาษีของประเทศเป็นอันมาก โดยเฉพาะกัญชานั้นมีประเด็นโต้เถียงมานานหลายสิบปีแล้วว่าควรจัดเป็นยาเสพติดหรือไม่ หรืออย่างน้อยก็เถียงกันว่ามันควรจัดเป็นยาเสพติดที่ต้องรับโทษรุนแรงเลยหรือ?

          ในทศวรรษที่ 1970 มีอาชญากรเพียง 200,000 คนที่ต้องรับโทษจากอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับกัญชาในเรือนจำของรัฐและรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ และมากกว่า 750,000 คนในเรือนจำท้องถิ่น แต่จากตัวเลขในปี 2550 (ก่อนการ Decriminalization และ Legalization กัญชา ) มีชาวอเมริกันมากกว่า 1.5 ล้านคนที่ติดคุกเพราะกัญชา และในเวลานั้นประเมินกันว่าหากกัญชาถูกลดทอนความเป็นอาชญากรรม ตัวเลขเหล่านี้ก็จะลดลงไปอีกจนเหลือผู้ต้องขังต่ำกว่า 700,000 คน และช่วยประหยัดภาษีผู้เสียภาษีได้หลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี (4)

          ข้อสนับสนุนเหล่านี้ข้อโต้แย้งเช่นกัน อย่างที่บอกว่ากัญชาเสรีจะช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีการโต้ว่าการเปิดเสรีกัญชาจะเป็นการเปิดประตูไปสู่ยาเสพติดผิดกฎหมายตัวอื่นๆ ข้อโต้แย้งนี้มีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980

          โดยเฉพาะจาก กาเบรียล จี. นาฮาส (Gabriel G. Nahas) วิสัญญีแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กที่เป็นที่รู้จักในเรื่องการรณรงค์ต่อต้านการใช้กัญชาและการเสพยาอย่างผิดกฎหมาย ในปี 2528 เขาตีพิมพ์หนังสือชื่อ Keep Off the Grass (หลีกไปให้พันกัญชา) ซึ่งระบุว่า "การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีที่เกิดจากกัญชาในสมองส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการแสวงหายา การเสพยา ซึ่งในหลายกรณีจะทำให้ผู้ใช้ทำการทดลองกับสาร (เสพติด) ที่น่าพึงพอใจอื่น ๆ ความเสี่ยงของการพัฒนาจากกัญชาเป็นโคเคนไปจนถึงเฮโรอีนมีข้อมูลได้รับการบันทึกไว้อย่างดี” (5) ผ่านจนถึงทศวรรษที่ 2000 - 2010 ก็ยังมีการวิจัยที่บางชิ้นชี้ถึงความเป็นไปได้ของข้อโต้แย้งนี้

          ส่วนข้ออ้างเรื่องลดอาชญากรรม (รวมถึงลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ) ฝ่ายต่อต้านกัญชาเสรีระบุว่ามันอาจทำให้เกิดอาชญากรรมขึ้น แต่มีผลวิจัยที่สวนกลับข้ออ้างเรื่องกัญชาเสรีทำให้อาชญากรรมเพิ่มขึ้น คือ ผลการศึกษาปี 2557 ที่ตีพิมพ์ใน PLoS ONE พบว่าการทำให้กัญชาถูกกฎหมายทางการแพทย์ไม่เพียงแต่ไม่เพิ่มอาชญากรรมรุนแรงเท่านั้น แต่ยังพบว่าการฆาตกรรมและการทำร้ายร่างกายลดลง 2.4% ในแต่ละปีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ (6)

          การศึกษาที่อัปเดตที่สุดชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการทำให้กัญชาถูกกฎหมายในสหรัฐ คือการวิจัยโดย Cato Institute สถาบันที่ปรึกษาด้านนโยบายสายอิสรนิยมในวอชิงตันดีซี นำเสนอข้อโต้แย้งของแต่ละฝ่ายและหักล้างด้วยการวิจัยต่างๆ เช่น ประเด็นเรื่องอาชญากรรมเพิ่มขึ้นหรือไม่หลังการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย Cato Institute สรุปว่า "โดยรวมแล้ว อาชญากรรมรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากการที่กัญชาถูกกฎหมาย" (7) และยกตัวอย่างว่าบางรัฐอาชญากรรมลดลงมาก แต่บางรัฐก็เพิ่มสูงมากเช่นกัน แต่โดยรวมแล้ว "ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง"

          กับข้ออ้างเรื่องการใช้กัญชาจะช่วยลดการดื่มของมึนเมาลดลงนั้น การศึกษานี้พบว่า "ไม่แสดงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างการทำให้ถูกต้องตามกฎหมายของกัญชาและการใช้แอลกอฮอล์"  เพราะบางแห่งมีอัตราการดื่มเพิ่มขึ้นและบางแห่งก็น้อยลง และยังพบว่า "ไม่มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างการทำให้กัญชาถูกต้องตามกฎหมายของกัญชาและการใช้โคเคน" นั่นหมายความว่าการอ้างว่ากัญชาเสรีจะทำให้เกิดแนวโน้มใช้ยาเสพติดอื่นๆ เพิ่มขึ้นก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันหนักแน่นเช่นกัน

          ประเด็นเรื่องการใช้กัญชาอย่างเสรีนำไปสู่การฆ่าตัวตายมากขึ้นหรือไม่ รายงานนี้สรุปว่า "เป็นการยากที่จะเห็นความเชื่อมโยงใดๆ ระหว่างการทำให้กัญชาถูกต้องตามกฎหมายกับการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการฆ่าตัวตาย การวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการใช้กัญชาทางการแพทย์กับอัตราการฆ่าตัวตายที่ลดลง ผลกระทบดังกล่าวยังไม่ชัดเจนในที่นี้ อาจเป็นเพราะหลายรัฐได้รับรองกัญชาทางการแพทย์แล้วก่อนที่จะทำให้ถูกกฎหมายอย่างสมบูรณ์ ความเชื่อมโยงระหว่างกัญชาทางการแพทย์กับอัตราการฆ่าตัวตายที่ลดลง อาจส่วนหนึ่งมาจากข้อเท็จจริงที่ว่ากัญชาทางการแพทย์สามารถทดแทนยาแก้ปวดและยาอื่นๆที่มีส่วนผสมของฝิ่นที่อันตรายกว่าได้" (7)

          ประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะสหรัฐ กำลังเผชิญกับ Opioid epidemic ซึ่งเป็นวิกฤตที่เกิดจากการใช้ยาที่มีส่วนผสมของฝิ่น (Opioid) โดยตั้งแต่ปี 2542 ถึง พ.ศ. 2559 ชาวอเมริกันประมาณ 453,300 คนเสียชีวิตจากการใช้ Opioid (8) ซึ่งในรายงานของ Cato Institute อ้างการวิจัยหนึ่งที่ระบุว่า "การใช้ยา Opioid และยาแก้ปวดเกินขนาดเชื่อมโยงกันกับการเพิ่มขึ้นของการเสียชีวิตและการฆ่าตัวตาย"

          หากจะเอา Opioid epidemic มาเป็นตัวเทียบแล้ว พร้อมกับเทียบผลการวิวาทะแวดล้อมเรื่องกัญชาเสรี จะเห็นว่า  การ Decriminalization และ Legalization กัญชาในสหรัฐฯ นั้นดูจะเป็นเรื่องเล็กๆ ไปเลย

          ดีไม่ดีอาจจะ "มีคุณ" ต่อสังคมที่กำลังเจ็บป่วยด้วยสารเสพติดยาที่ผสมสารเสพติดรุนแรงอย่าง Opioid เสียอีก

 

 

อ้างอิง

1. "MARIJUANA OVERVIEW". National Conference of State Legislatures. Retrieved January 23, 2018.

2. Hollenbeck, Brett; Uetake, Kosuke (2021). "Taxation and Market Power in the Legal Marijuana Industry". RAND Journal of Economics. doi:10.1111/1756-2171.12384. SSRN 3237729.

3. Paul Armentano (December 26, 2012). "Is Marijuana an 'Exit Drug'? Study Suggests Some Are Taking It as a Substitute for Prescription Drugs and Alcohol". AlterNet.

4. "Unlocking America: Why and How to Reduce America's Prison Population". Decriminalizing Pot Will Reduce Prison Population, Have No Adverse Impact On Public Safety, Study Says. NORML. November 21, 2007.

5. Nahas, Gabriel (1985). Keep off the Grass. P.S. Eriksson. ISBN 978-0-8397-4384-2.

6. Morris, Robert G.; TenEyck, Michael; Barnes, J. C.; Kovandzic, Tomislav V.; Keating, Joseph A. (March 26, 2014). "The Effect of Medical Marijuana Laws on Crime: Evidence from State Panel Data, 1990-2006". PLOS ONE. 9 (3): e92816. Bibcode:2014PLoSO...992816M. doi:10.1371/journal.pone.0092816. PMC 3966811. PMID 24671103.

7. Angela Dills, Sietse Goffard, Jeffrey Miron, & Erin Partin. (February 2, 2021). "The Effect of State Marijuana Legalizations: 2021 Update". Cato Institute.

8. "The Opioid Epidemic Might Be Much Worse Than We Thought". The Atlantic. February 27, 2020.

 

ภาพ - © O'Dea at Wikimedia Commons, CC BY-SA 4.0