ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"อนุทิน" เปิดประชุมระดับสูงเอเปค  แลกเปลี่ยนประสบการณ์การรับมือโรคโควิด 19 พร้อมชูนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ส่งเสริมทั้งการดูแลสุขภาพและการสร้างเศรษฐกิจ  ลั่น! ก้าวต่อไปของการสาธารณสุขไทย   ต้องนำทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการรับมือกับโรคระบาด ชูศูนย์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และโรคอุบัติใหม่ของอาเซียน(ACPHEED)ที่ตั้งในไทย ตัวขับเคลื่อนสำคัญ

 เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ (HLM) ครั้งที่ 12 โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจาก 15 เขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วมประชุมแบบออนไซต์ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก เปรู ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม เข้าร่วมประชุมผ่านออนไลน์ 5 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ จีน จีนฮ่องกง เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และรัสเซีย รวมถึงผู้นำระดับสูงจากหน่วยงานระหว่างประเทศ 2 คน คือ ดร.รีเบคกา ฟาติมา สตา มาเรีย ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานเลขาธิการเอเปค และ ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน

นายอนุทิน กล่าวว่า การประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2565 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" โดยเน้นเรื่องการสร้างความสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเรามีปัญหาทางสาธารณสุข คือ การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้หลายประเทศมีการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก หรือบางประเทศมีการผ่อนคลายอย่างมากจนทำให้เกิดความสูญเสียเช่นกัน ดังนั้น โควิดสอนให้เราสร้างสมดุลที่ดีระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ โดยเรื่องการดูแลรักษาทั้งวัคซีนและมาตรการทางการแพทย์จะต้องมีความเท่าเทียมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพราะเป็นความจริงที่ว่า "ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย" 
อย่างไรก็ตาม เรื่องสุขภาพสามารถสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ ประเทศไทยมีตัวอย่างการดำเนินงานเรื่องนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ในการนำมาดูแลสุขภาพประชาชน และเกิดโอกาสทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ในการประชุมได้มีการเสวนาเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ (Balancing Health and the Economy) โดยตนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายกับอีก 5 ท่าน ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อินโดนีเซีย , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สิงคโปร์ , รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ สหรัฐอเมริกา , เลขาธิการอาเซียน และผู้อำนวยการบริหารสำนักงานเลขาธิการเอเปค ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ข้อมูลเชิงลึก และประสบการณ์จริงในการตอบสนองต่อโควิด มีการหารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเศรษฐกิจและการพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่ดี 

สำหรับการเสวนาเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ ทางอินโดนีเซียได้แลกเปลี่ยนเรื่องการบริหารจัดการเพื่อรับมือโรคโควิด 19 โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ มีการลงทุนด้านสุขภาพ ระบบการเงินการคลังสุขภาพ การพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ และการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ สิ่งที่ยังเป็นความท้าทาย ได้แก่ ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่ยังมีบุคลากรไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทุรกันดาร และมีผู้มารับบริการวัคซีนโควิด 19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันลดลงในช่วงโควิด 

ขณะที่สิงคโปร์แลกเปลี่ยนเรื่องของการตัดสินใจเลือกใช้มาตรการระหว่างด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ซึ่งช่วงแรกเลือกมาตรการปิดประเทศ เพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของโควิด แต่ประชาชนก็ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จึงต้องให้วัคซีนโควิดเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ก็มีความท้าทายเรื่องการเข้าถึงวัคซีน ความมั่นใจในวัคซีนของประชาชน และศักยภาพการผลิตวัคซีนของประเทศ ส่วนทางสหรัฐอเมริกาได้เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ความเท่าเทียมของการเข้าถึงบริการ การลงทุนด้านสุขภาพ รวมถึงการพัฒนากำลังคนให้เพียงพอและการสร้างงานให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุข เน้นการรับมือกับผลกระทบด้านพฤติกรรมของประชาชน เช่น สุขภาพจิต การใช้สารเสพติด เป็นต้น

ด้านเลขาธิการอาเซียนแลกเปลี่ยนข้อมูล ว่า การระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็ก ผู้หญิง และแรงงานต่างด้าว รวมถึงการดำเนินงานด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว บทบาทของอาเซียนในการสนับสนุนแต่ละประเทศ คือ การลดผลกระทบของโควิด สร้างความร่วมมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์ด้านสาธารณสุขในการรับมือโรคระบาด เพิ่มการลงทุนด้านสาธารณสุข เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศในอาเซียนร่วมกัน ซึ่งมีความท้าทายเรื่องความเพียงพอของทรัพยากรด้านสาธารณสุข ทั้งบุคลากรด้านสุขภาพ งบประมาณ จึงควรมีการเพิ่มการทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง ส่วนสำนักงานเลขาธิการเอเปคเสนอเรื่องการทำงานเพื่อฟื้นเศรษฐกิจของเขตสุขภาพต่างๆ ได้แก่ 1) Trade Facilitation เพื่อให้วัคซีนและเวชภัณฑ์ต่างๆสามารถผ่านเข้าสู่ประเทศต่างๆ ได้ และ 2) Safe Passage เพื่อให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

      นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย การเกิดขึ้นของ ศบค. ช่วยสร้างประสิทธิภาพในการจัดการ และบูรณาการทุกหน่วยงานให้เป็นไปอย่างคล่องตัว ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนั้น เรายังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เข้มแข็ง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข ไปจนถึงพลังของ อสม. และความสำเร็จในการจัดหา และให้บริการวัคซีนอย่างทั่วถึง เหล่านี้ คือ ปัจจัยบวกของไทย ที่เราพร้อมถ่ายทอดให้นานาชาติได้รับทราบ  

    "ก้าวต่อไปของการสาธารณสุขไทย คือ ต้องนำทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการรับมือกับโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ซึ่งศูนย์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และโรคอุบัติใหม่ของอาเซียน(ACPHEED)ที่ตั้งในไทย ก็จะทำหน้าที่นี้ด้วย เพื่อให้ประชาคมอาเซียนมีความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจต่อไป สำหรับประเทศไทย ระบบสาธารณสุขของเราได้รับการยอมรับ และเป็นจุดแข็งในเรื่องของการดึงดูดการลงทุนจากในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายอนุทิน กล่าว