ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการคุมโรคจากอาชีพ-สิ่งแวดล้อม เห็นชอบกฎหมายลูก 4 ฉบับ – ประกาศสธ. 3 ฉบับ คุมโรค สถานะเทียบเท่าพ.ร.บ.โรคติดต่อ ชง รมว.สธ.พิจารณา พร้อมเผยข้อมูลสถานการณ์โรค ทั้งจากสารกำจัดศัตรูพืช - ฝุ่น-แร่ใยหิน ฯลฯ" 

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงภายหลังการประชุม คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 4/2565 ที่มี นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอนุบัญญัติภายใต้พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ใน 4 เรื่อง คือ 1.การตรวจสุขภาพของแรงงานนอกระบบ (ม.27)  2.การให้เจ้าของ หรือ ผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษแจ้งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุม  โรคจากสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ (ม.7(3))  3.การกำหนด ประเภท ขนาด และลักษณะของแหล่งกำเนิดมลพิษ และประเภทหรือกลุ่มของประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ (ม.28)  และ 4.การแจ้งและการรายงานข้อมูลการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง แรงงานนอกระบบ หรือการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ (ม.29) จะทำให้แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองดีขึ้น  

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการปรับแก้ไขร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับ หน่วยบริการสุขภาพจากการรับฟังความคิดเห็นของเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3 ฉบับ ได้แก่ 1.การกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการอาชีวเวชกรรม (ม.24(1)) 2.การกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม (ม.24(2))  และ 3. การขึ้นทะเบียนของหน่วยบริการฯ (ม.25 วรรค 3)  

“กฎหมายนี้มี 2 เรื่อง คือคนที่ทำงานกับตัวก่อโรค อาทิ ตะกั่ว แร่ใยหิน กับอีกประเภทคือโรคจากสิ่งแวดล้อม เช่น ควันพิษ ฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นต้น  ซึ่งเมื่อมีการกำหนดชื่อโรคแล้วจะได้ทำให้เกิดการเฝ้าระวังเทียบได้กับพ.ร.บ.โรคติดต่อ พอประกาศโรคแล้วจะกำหนดว่าใครจะต้องแจ้งข้อมูลอะไรที่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือพ.ร.บ.โรคติดต่อเมื่อเกิดโรคแล้วค่อยแจ้ง แต่อันนี้จะต้องแจ้งตั้งแต่ยังไม่เกิดโรคว่ามีมลพิษตรงไหนบ้าง จะได้มีการเฝ้าระวังต่างๆ ให้ครบถ้วน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบแล้วจะเสนอให้รมว.สาธารณสุขพิจารณาเห็นชอบต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว และว่า ทั้งนี้ปัจจุบันมีโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อม ภาพรวมมีแนวโน้มลดลง  

เมื่อถามว่านอกจากแจ้งสถานที่เสี่ยง แล้วยังกำหนดเรื่องมาตรการต้องดูแลแรงงานไว้ด้วยหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า มาตรการดูแลแรงงานมีการออกประกาศไปแล้ว แต่ในภาพรวมของกฎหมายจะมีการกำหนดหน่วยบริการที่จะต้องดูแลสุขภาพของผู้ทำงาน ทีตะต้องมีการขึ้นทะเบียน มีมาตรฐาน ซึ่งตรงนี้พิจารณาผ่านไปแล้ว รอการประกาศและบังคับใช้ต่อไป  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุมได้มีการรายงานสถานการณ์โรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม พบว่า 1. ผู้ป่วยโรคจากสารกำจัดศัตรูพืชปี 2560 คิดเป็น 22.72 ต่อแสนประชากร  ปี 2561 อยู่ที่ 14.15 ต่อแสนประชากร  ปี 2562 อยู่ที่ 13.06 ต่อแสนประชากร  และปี 2563 อยู่ที่ 13.75 ต่อแสนประชากร และปี 2564 อยู่ที่ 11.08 ต่อแสนประชากร  2.โรคจากฝุ่นซิลิกา ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ พบว่าปี 2560 มีผู้ป่วย 114  ราย ปี 2561 ป่วย 268 ราย ปี 2562 ป่วย 107 ราย ปี 2563 ป่วย 111 ราย และปี 2564 ป่วย 89 ราย 3. โรคจากแอสเบสตอส (แร่ใยหิน) หรือโรคมะเร็งจากแอสเบสตอส พบว่าปี  2560 ป่วย 68 ราย ปี 2561 ป่วย 58 ราย ปี 2562 ป่วย 59 ราย ปี 2563 ป่วย 52 ราย และปี 2564 ป่วย 50 ราย 

4.โรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว พบว่า ปี 2560 ป่วย 1 ราย ปี 2561 ป่วย 39 ราย ปี 2562 ป่วย 46 ราย ปี 2563 ป่วย 19 ราย และปี 2564 ป่วย 18 ราย 5. โรคจากภาวะอับอากาศ รายงานปี 2560 – 2564 เกิดเหตุ 31 เหตุการณ์ผู้ประสบเหตุ 95 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 68 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 71.6 % พบเกิดมากสุดคือบ่อน้ำ บ่อบบาดาล 15 เหตุการณ์ บ่อบำบัด บ่อเกรอะ 6 เหตุการณ์ เรือสำราญ 4 เหตุการณ์ โรงเพาะเห็ด 2 เหตุการณ์ ถังพัก ถังเก็บ บ่อพัก 2 เหตุการณ์ บ่อมูลสัตว์ หมักก๊าซ 1 เหตุการณ์ แบะไซโล 1 เหตุการณ์

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org