ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านบริการพยาบาล เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการพยาบาลให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการบริการพยาบาลระดับประเทศและนโยบายกระทรวงสาธารณสุข สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายบริการพยาบาล เพิ่มคุณภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการพยาบาล เพื่อเป้าหมายประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง

วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2565) ที่ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านบริการพยาบาลระดับประเทศ สู่คนไทยสุขภาพวะดี (Nursing and Midwifery Action Plan for Thai Health and Wellness) โดยมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาลเขตสุขภาพ 12 เขตสุขภาพ เขตกรุงเทพมหานคร และผู้รับผิดชอบงานพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาล ร่วมประชุมในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ประมาณ 800 คน

นพ.โอภาส กล่าวว่า พยาบาลเป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ให้ประชาชนได้รับบริการพยาบาลที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายบริการพยาบาลจะทำให้เกิดการช่วยเหลือร่วมมือซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ระบบบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ส่งผลให้การบริการพยาบาลมีคุณภาพอย่างยั่งยืน และสอดคล้องตามแนวทาง Health for Wealth ที่มุ่งใช้ความมีสุขภาพดีสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เพื่อเป้าหมาย “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง”

ทั้งนี้ ในส่วนของบุคลากรทางการพยาบาลต้องมีการบริหารจัดการอัตรากําลังให้เหมาะสมกับภาระงาน จึงจะทำให้เกิดคุณภาพการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำลังมีการพิจารณาภาพรวมทั้งระบบ ทั้งเรื่องชั่วโมงการทำงาน และค่าตอบแทนต่างๆ สวัสดิการบุคลากร โดยเฉพาะความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน

ด้านนางอัมราภัสร์ อรรถชัยวัจน์ ผู้อำนวยการกองการพยาบาล กล่าวว่า กองการพยาบาลในฐานะหน่วยงานหลักในการพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาล ได้พัฒนาเครือข่ายผู้บริหารการพยาบาลเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการบริการพยาบาลที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการบริการพยาบาลระดับประเทศ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2565-2569 และนโยบายกระทรวงสาธารณสุข โดยจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ทั้งระดับเขตสุขภาพและสถานบริการ เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการสุขภาพ การบริหารจัดการคุณภาพ ระบบสารสนเทศ และการบริหารความเสี่ยงทางการพยาบาล เพิ่มการเข้าถึงบริการพยาบาล ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ระบบสาธารณสุขเข้มแข็งและสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ