ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอสุภัทร” เผยการย้ายผอ.รพ.เพื่อพัฒนา รพ.อื่นๆ ใช้ไม่ได้กับ รพ.ชุมชน เหตุบริบทต่างกัน ชี้การทำงานรพ.ชุมชน นอกจากรักษาคนไข้ บริหารรพ. ยังต้องทำงานคลุกคลีพื้นที่ใช้เวลามากกว่า 5-10 ปี หากย้ายจำเป็นจริงๆ ส่วนใหญ่ให้ควบตำแหน่ง ยกตัวอย่างรพ.นาทวีกับรพ.สะเดา  ขณะที่ผลสอบเรื่องเผยแพร่ข้อมูลวัคซีนจนลงโทษภาคทัณฑ์นั้น ไม่เกี่ยวกับคำสั่งย้าย คนละประเด็น พร้อมเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง-ม.157 อยู่ระหว่างพิจารณาฟ้องใครบ้าง

 

 

เมื่อวันที่ 27 มกราคม นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ที่เพิ่งถูกคำสั่งย้ายไปดำรงตำแหน่งผอ.รพ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 และดำรงตำแหน่งประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้สัมภาษณ์กรณีข้อวิพากษ์วิจารณ์เบื้องหลังคำสั่งย้ายครั้งนี้ ว่า เป็นไปตามที่ตนได้โพสต์บนเฟซบุ๊ก ซึ่งเรื่องนี้มองได้ชัดว่า มีความไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม ตนมีอีกภารกิจในการนั่งเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบทตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน นโยบายต่างๆของสธ.  เช่น การไม่เห็นด้วยต่อนโยบายกัญชาเสรี การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม การบริหารจัดการโควิดและวัคซีน การไม่ลงนามงบส่งเสริมป้องกันปี 2566 หรือ การซื้อ ATK ที่มีข้อสงสัย และไม่ทราบว่าเพราะเหตุนี้หรือไม่จึงมีคำสั่งย้ายที่ไม่เป็นธรรม และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

** ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการเผยแพร่คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข กรณีสอบสวนนพ.สุภัทร ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลนโยบายกระจายวัคซีนสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ว่าเป็นการนำวัคซีนหมดอายุ โดยลงโทษภาคทัณฑ์ จะเกี่ยวข้องกับการย้ายครั้งนี้หรือไม่... 

นพ.สุภัทร กล่าวว่า  ไม่มีผลต่อการย้าย เพราะเป็นการทำหน้าที่ในนามประธานชมรมแพทย์ชนบท ที่วิจารณ์เรื่องการจัดสรรวัคซีนลงสู่ รพ.สต. ไม่ได้เป็นการลงโทษทางวินัยอันเนื่องจากการบริหาร รพ.จะนะ  จึงไม่ใช่เป็นเหตุให้ย้ายตนจากกรณีวินัยครั้งนั้น ซึ่งหากสังเกตคำสั่งที่ย้ายตนที่ออกมาจากสื่อ ก็ไม่ได้อ้างอิงคำสั่งสอบวินัยครั้งนั้นแต่อย่างไร  แต่การย้ายกลับอ้างว่าให้ไปแก้ปัญหารพ.สะบ้าย้อย

 

**เมื่อถามกรณีมีคนมองว่า การย้าย ผอ.รพ.ที่มีศักยภาพในการทำงานไปพัฒนา รพ.อื่นๆ ย่อมก่อประโยชน์ต่อพื้นที่ต่อประชาชน..

นพ.สุภัทร กล่าวว่า  เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะการทำงานในรพ.ชุมชน ไม่เหมือนกันกับ รพ.จังหวัด เพราะรพ.จังหวัด เป็นการบริหาร รพ.เป็นหลัก แต่รพ.ชุมชน ต้องบริหารชุมชนด้วย ต้องมีสายสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ที่ดี การทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งสร้างไม่ได้ใน 2-3 ปี ต้องสร้างโดยใช้เวลา 5 ปี 10 ปี มีมิตรภาพ การทำงานร่วมกับ อสม. ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน ทำงานชุมชน พระสงฆ์ โต๊ะอิหม่าม  สิ่งเหล่านี้ต้องการการอยู่นาน

 

“ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข มีข้อดีมากออกแบบให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนอยู่ได้จนเกษียณ แต่ไม่สามารถก้าวหน้ากว่านี้ได้ ผมจะไปเป็นแพทย์ใหญ่ก็ไม่ได้ ภายใต้ตำแหน่งที่ผมเป็นอยู่ ผมต้องย้ายตำแหน่งก่อน ซึ่งเป็นการออกแบบที่ดีมาก และผู้อำนวยการรพ.ชุมชนส่วนมากยินดีเกษียณในตำแหน่งนี้ เพื่อทำงานให้ได้เต็มที่ พัฒนารพ. ดูแลรพ. พัฒนาชุมชน การทำงานในรพ.ชุมชนกับชุมชนสัมพันธ์กัน จึงไม่สามารถย้ายได้ทุก 3-4 หากทำ ระบบล่ม 100% ที่ผ่านมาก็ไม่เคยย้ายแบบผม ปกติถ้ามีจะเรียกไปคุย ขอให้ไปพัฒนารพ.ชุมชน เช่น นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผอ.รพ.นาทวี จ.สงขลา ถูกเรียกขอให้ไปช่วยรพ.สะเดา เพราะมีอุปสรรคเยอะ อยากให้พัฒนา คุณหมอสุวัฒน์ ก็ได้รักษาการรพ.สะเดา อีกตำแหน่งหนึ่ง ได้ดูแล 2 รพ. แต่ผมกลับย้าย ดูแปลกๆ” นพ.สุภัทร กล่าว

 

**ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการฟ้องศาลปกครองกับม.157 เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมหรือไม่..

นพ.สุภัทร กล่าวว่า คิดว่าเช่นนั้น ส่วนจะฟ้องใคร ฟ้องอย่างไรขอปรึกษาหารือก่อน เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดเยอะ

 

**เมื่อถามต่อว่าจะมีการอุทธรณ์กับปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือไม่ ..

นพ.สุภัทร กล่าวว่า ยังไม่ได้รับหนังสือคำสั่งย้ายเลย ณ ตอนนี้ยังไม่เห็นด้วยซ้ำ เห็นแต่สื่อออกข่าว