ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอทวีศิลป์” เผยความคืบหน้าตั้งคณะทำงานร่วม สธ.และ ก.พ. มี “พญ.อัจฉราและรองเลขาฯก.พ.” จัดทำเนื้อหาข้อมูลทุกวิชาชีพ ทั้งกรอบอัตรากำลังขั้นสูง ความก้าวหน้า เสนอต่อที่ประชุม ครม.เห็นชอบ หากทันเร็วสุด 5 ก.ค. ส่วนบรรจุข้าราชการโควิดรอบสองเป็นคนละส่วน ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ ก.พ.

จากกรณีกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประชุมหารือร่วมสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาภาระงาน ความก้าวหน้า และขวัญกำลังใจบุคลากร โดยสธ.เสนอการเพิ่มตำแหน่งข้าราชการแต่ละวิชาชีพให้เต็มกรอบขั้นสูงในปี 2569 และความก้าวหน้าชำนาญการพิเศษของพยาบาล เป็นต้น โดยที่ประชุมให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันขับเคลื่อนภายใน 30 วันนั้น

 

คณะทำงานร่วมสธ.-ก.พ.ชงครม.แก้ปัญหาภาระงาน 

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus ว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)โดยท่านปลัดกระทรวงฯได้ประชุมร่วมกับท่านเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เบื้องต้นได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ก.พ. โดยสธ.มีพญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 อดีตผอ.สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท(สบพช.) เป็นประธานร่วมกับรองเลขาธิการ ก.พ. ซึ่งคณะทำงานได้พิจารณารายละเอียดของข้อมูลในทุกสาขาวิชาชีพ ใช้ข้อมูลขับเคลื่อน และใช้หลักการที่ได้ตกลงกันในที่ประชุมร่วมระหว่างสธ.และก.พ.เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมาเป็นสำคัญ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ท่านเลขาธิการก.พ.ได้กรุณาให้คณะทำงานชุดนี้สรุปชุดข้อมูลร่วมเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อเสนอให้เร็วที่สุด ซึ่งท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ท่านได้มอบให้ท่านรณภพ  ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  มาร่วมประชุม เพื่อให้ความสำคัญเรื่องนี้  ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำข้อมูลร่วมกันเพื่อเสนอต่อ ก.พ. และเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป ซึ่งหากเป็นไปได้ก็อยากให้เร็วที่สุดเพื่อทันต่อครม.ในวันที่ 5 ก.ค.

“ส่วนรายละเอียดต่างๆของเนื้อหาก็จะเป็นไปตามผลการหารือในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งท่านเลขาธิการ ก.พ.รับทราบเรื่องนี้และสนับสนุนเต็มที่ โดยทางก.พ.จะเป็นผู้เสนอต่อ ครม. สำหรับเนื้อหาที่จะนำส่ง ก.พ.นั้นก็จะเป็นภาพรวม เป็นข้อๆ ว่าข้อไหนทำได้ก่อน ข้อไหนต้องปรับกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง ก.พ.เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นรายละเอียดในการปฏิบัติงาน แต่ภาพรวมก็จะเป็นข้อตกลงร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการกรอบอัตรากำลังขั้นสูงของแต่ละวิชาชีพ ความก้าวหน้าต่างๆ เป็นต้น” รองปลัดสธ.กล่าว

เบื้องต้นคณะทำงานระหว่างสธ.และก.พ.ส่วนหน่วยงานอื่นๆรอพิจารณาเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะทำงานชุดนี้จะเป็นในส่วนของสธ.และก.พ.เท่านั้นหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เป็นคณะทำงานร่วมกันระหว่าง สธ.และสำนักงาน ก.พ.  แต่หากที่ประชุม ครม.พิจารณาแล้ว และอาจมีการสั่งการเพิ่มเติมว่า มีข้อไหนต้องเกี่ยวเนื่องกับหน่วยงานใดก็ต้องมีการสั่งการเพิ่มก็เป็นได้ ทั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือแพทยสภา เป็นต้น

บรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง คนละส่วนกับคณะทำงานชุดนี้

เมื่อถามว่ากรณีการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง จะไม่ได้มีการพิจารณาอยู่ในคณะทำงานชุดนี้ เพราะเป็นคนละส่วนหรือไม่ รองปลัดสธ.กล่าวว่า เป็นคนละส่วนกับการพิจารณาของคณะทำงานชุดนี้ เพราะการบรรจุข้าราชการโควิดก็เป็นไปตามกฎระเบียบ ข้อกำหนดของ ก.พ. 

 

สรุปเนื้อหาคณะทำงานร่วมสธ.-ก.พ.เตรียมเสนอก.พ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  สำหรับเนื้อหาที่คณะทำงานร่วมระหว่างสธ.และก.พ.จะเสนอต่อที่ประชุมครม.นั้น เป็นไปตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน โดยจะเน้นภาพรวมก่อนเพื่อให้ครม.เห็นชอบการดำเนินการ ซึ่งสำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการสรุปเป็นข่าวเผยแพร่ผลการหารือครั้งก่อนไว้ผ่านเว็บไซต์ https://pr.moph.go.th/   แบ่งข้อสรุป ดังนี้ 

1.เห็นชอบที่จะมีการเพิ่มตำแหน่งข้าราชการแต่ละวิชาชีพให้ได้ตามกรอบขั้นสูงที่กำหนด ภายในปี 2569 เช่น แพทย์ปัจจุบันมี 24,649 คน เพิ่มเป็น 35,578 คน พยาบาลปัจจุบันมี 116,038 คน เพิ่มเป็น 175,923 คน เป็นต้น

2.การดูแลเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ เช่น วิชาชีพพยาบาล ที่ไม่สามารถขึ้นเป็นระดับชำนาญการพิเศษได้เนื่องจากไม่ตรงตามข้อกำหนดในระเบียบ จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อดูเกณฑ์ที่ติดขัดว่าผ่อนปรนได้หรือไม่

3.การจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอ โดยเฉพาะแพทย์ รวมทั้งจะเสนอแพทยสภาในการศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้าน ให้เพิ่มการฝึกอบรมในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 48 แห่งของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นสถานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านมากขึ้น เพื่อคงอัตรากำลังแพทย์ไว้ในพื้นที่ และเสนอ ก.พ. ไม่นับเป็นการลาศึกษาต่อ เนื่องจากเป็นการไปฝึกปฏิบัติงานในอีกหน่วยบริการหนึ่ง เพื่อให้ไม่เป็นข้อจำกัดในการเลื่อนขั้นเลื่อนระดับ 

4.การจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (แพทย์ใช้ทุนปี 1) ให้เพียงพอกับภาระงาน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงฯ ได้รับจัดสรรไม่ถึง 70% จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ (Consortium) ขอรับการจัดสรรเพิ่มเป็น 85%

5.โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) พบว่าแพทย์คงอยู่ในระบบมากถึง 90% ดังนั้นจะขยายการผลิตให้ได้แพทย์ภาพรวมแต่ละปีประมาณ 2 พันคน ตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง 2 เรื่องนี้จะมีการเสนอกับแพทยสภาต่อไป   

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง: สรุปผลหารือ สธ.ร่วม ก.พ. ตั้งคณะทำงาน 30 วัน เพิ่มอัตรากำลัง ความก้าวหน้า สร้างขวัญกำลังใจทุกวิชาชีพ)

ตัวอย่างบางวิชาชีพที่มีการหารือเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา