ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคีหน่วยงานด้านสาธารณสุขจากภาครัฐ เพื่อศึกษาดูงานชมรมส่งเสริมดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนโดยพระสงฆ์เป็นแกนนำ วัดห้วยพรหม อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำให้ผู้ป่วยจิตเวชสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับผู้คนในชุมชนได้อย่างเป็นปกติสุข 
 
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. ร่วมกับ ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานชมรมส่งเสริมดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนโดยพระสงฆ์เป็นแกนนำ วัดห้วยพรหม อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
 
พระครูประโชติสังฆกิจ เจ้าอาวาสวัดศิริมังคลาราม และประธานชมรมส่งเสริมดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนโดยพระสงฆ์เป็นแกนนำ เปิดเผยว่า ชมรมส่งเสริมดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน โดยมีพระสงฆ์เป็นแกนนำ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2543 โดยได้รับการร้องขอจากนักสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลจิตเวช นครราชสีมาราชนครินทร์ ให้ช่วยทำโครงการดังกล่าวขึ้นมา ปัจจุบันมีผู้ป่วยในความดูแลที่ถูกลงทะเบียนไว้ประมาณกว่า 80 คน 
  
พระครูประโชติสังฆกิจ กล่าวว่า การก่อตั้งชมรม แน่นอนว่าไม่สามารถทำทุกสิ่งเพียงแค่คนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน เกิดขบวนการเชิงรุก ออกเยี่ยมบ้านเพื่อค้นหาผู้ป่วยทางจิตเวชที่ต้องการความช่วยเหลือ
 
อย่างไรก็ดี ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ผู้ป่วยจิตเวชไม่สามารถรับประทานยารักษาได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ค่อนข้างสูง ช่วงแรกจึงใช้วิธีออกค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยได้ไปรับยา ซึ่งเมื่อผู้นำชุมชนได้เห็นว่าหลังจากได้รับยาผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจึงเกิดการทอดผ้าป่าเพื่อออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นอกจากการรับยาแล้ว ทางวัดยังมีส่วนร่วมในการรักษาทางจิตวิญญาณโดยใช้ธรรมะเป็นส่วนช่วย ผู้ป่วยจิตเวชได้ฝึกสมาธิมากขึ้น และให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางวัดได้จัดขึ้น เช่น การเข้าร่วมวงดนตรี การรำกลองยาว การทำจิตอาสาล้างห้องน้ำ-กวาดลานวัด เป็นต้น ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงถือเป็นการบูรณาการผู้ป่วยจิตเวชที่นอกจากจะบูรณาการทางด้านการรักษา ยังสามารถทำให้ผู้ป่วยเหล่านั้นสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และไม่ถูกกีดกันทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป


 
ทั้งนี้ การที่วัดเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชจะเป็นการช่วยลดตราบาปของผู้ป่วยที่ประชาชนคนอื่นๆ มักคิดว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวชนั้นน่ากลัว ไม่สามารถอาศัยร่วมกันได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด 

 
“ตั้งแต่ในอดีตวัดเป็นทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน และศาล แต่ตั้งแต่มีองค์กรปกครองระดับท้องถิ่นสิ่งเหล่านี้ก็ได้หายไปจากวัด ทำให้วัดมีส่วนร่วมกับชุมชนน้อยลง พระสงฆ์กลายเป็นเพียงดอกไม้หน้าศพที่มีความสำคัญแค่ตกแต่ง เหมือนพระสงฆ์ที่สวดมนต์ทำพิธี สุดท้ายก็ถูกทิ้งไว้ด้านหลังเหมือนดอกไม้หน้าศพ ดังนั้นชมรมนี้จะทำให้วัดได้ใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น และเป็นสถานที่พึ่งของประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น” พระครูประโชติสังฆกิจ กล่าว

 


 

รศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า ชมรมส่งเสริมดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนโดยพระสงฆ์เป็นแกนนำนี้เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้ทาง สปสช.ของสถาบันพระสงฆ์ที่จะมีส่วนความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ปัจจุบันบริการทางจิตเวชสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านจิตในชุมชนมักจะเกิดเหตุการณ์ผู้ป่วยถูกล่ามโซ่หรือถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งชมรมนี้สามารถทำให้เกิดระบบการดูแลผู้ป่วยโดยมีพระสงฆ์เป็นแกนนำและเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนให้ผู้คนหันกลับมามองว่า ชีวิตของผู้ป่วยก็คือ ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งที่มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี
 
ทั้งนี้ สิ่งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การนำผู้ป่วยออกจากโลกทางจิตเวชอย่างเดียว แต่พิสูจน์แล้วว่าการที่ผู้ป่วยสามารถหายจากโรคจิตเวชได้สามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมามีที่ยืนในชุมชนโดยไม่มีตราบาปที่ว่า เคยเป็นผู้ป่วยจิตเวช นอกจากจะดูแลเรื่องสุขภาพจิต ทางวัดมีการดูแลถึงวิถีชีวิตในการเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ
 
อย่างไรก็ตาม สปสช.ต้องมีการศึกษาระบบบริการของชมรม เนื่องจากจะเห็นว่า ชมรมส่งเสริมดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนโดยพระสงฆ์เป็นแกนนำ มิใช่เป็นบริการด้านสุขภาพจิตเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความแข็งแรงของชุมชนให้กลับมามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพจิตของผู้คนในชุมชน 
 
สำหรับงบประมาณยังต้องให้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) และ
กองทุนสุขภาพและป้องกันโรคระดับเขตเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดกรองและตามหาผู้ป่วยจิตเวชเพื่อเข้าสู่ขบวนการรักษา ซึ่ง สปสช.ต้องกลับไปพิจารณาเพิ่มเติมว่าจะสามารถส่งเสริม-ขับเคลื่อนอย่างไร เพื่อนำการบริการจากพระสงฆ์เข้าไปสู่ระบบของรัฐได้อย่างเต็มที่