ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เผยผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 5,000 ราย ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปีจนขณะนี้ 40,000 ราย และเสียชีวิตกว่า 40 ราย  โดยเฉพาะ 30 อำเภอใน 18 จังหวัดจับตาพิเศษ เล็งใช้กฎหมายควบคุม

 

 

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม  ได้ประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับทีมสาธารณสุขในพื้นที่ 30 อำเภอ ของ 18 จังหวัด ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพื่อเน้นย้ำให้ทีมงานในพื้นที่เร่งรัดการควบคุมป้องกันโรคในช่วง 4 สัปดาห์จากนี้ (21 ก.ค. - 18 ส.ค. 2566) จากการรายงานพบว่ามีพื้นที่ 30 อำเภอใน 18 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ตาก เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด อุบลราชธานี กระบี่ ภูเก็ต สงขลา สตูล นราธิวาส    และกรุงเทพมหานคร ที่พบผู้ป่วยต่อเนื่องนานเกิน 8 สัปดาห์ และมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา มากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าเข้าใกล้เกณฑ์ในการประกาศให้เป็นพื้นที่ระบาดไข้เลือดออก 

 

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง 38 แห่งทั่วประเทศ ให้การสนับสนุนวิชาการและทรัพยากร เพื่อลดผู้ป่วยให้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

 

 “กรมควบคุมโรคทำงานร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมการแพทย์มาระยะหนึ่งในการลดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต และในภาวะใกล้วิกฤตตอนนี้ ได้ประสานขอความร่วมมือเพิ่มจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อระดมกำลังในการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกอีกด้วย” นพ.ธเรศกล่าว

 

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้อธิบายว่า พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้ประกาศกำหนดให้โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ถ้ามีจำนวนผู้ป่วยสูงและต่อเนื่อง      และต้องเพิ่มมาตรการในการควบคุมโรคให้เข้มข้นขึ้น อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจตามที่ระบุในมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.     ในการประกาศสถานที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ตามคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการ เพื่อให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในการดำเนินการตามมาตรา 34 แบบเดียวกับการควบคุมป้องกันโรคติดต่ออันตราย เช่น โรคโควิด 19 ในระยะ 2 ปีแรก

 

ทั้งนี้ มาตรา 34 (8) จะทำให้ทีมงานสาธารณสุขในพื้นที่สามารถเข้าไปในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะที่มีหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้น เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคได้ เช่น การเข้าไปสำรวจลูกน้ำยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ และพ่นสารเคมีเพื่อฆ่ายุงตัวแก่ ในบ้าน วัด โรงเรียน โรงแรม หรือสถานที่อื่นๆ ที่อาจจะเข้าไปไม่ได้ในสถานการณ์ปกติ และมาตรา 34 (4) (5) (6) ยังกำหนดให้เจ้าของสถานที่ต้องกำจัดลูกน้ำยุงลาย และแก้ไขสภาพแวดล้อม เช่น กำจัดขยะ แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานฯ อีกด้วย 

 

“หากมีการประกาศพื้นที่โรคระบาด จะช่วยเพิ่มความร่วมมือของประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ภายใต้กลไกของกฎหมายจะทำให้สามารถลดการ เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญทำให้ประชาชนไทยไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคที่ป้องกันได้” นพ.โสภณ กล่าว 

 

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคจะทำหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของ 18 จังหวัดดังกล่าวได้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้นในช่วง 4 สัปดาห์จากนี้ รวมทั้งให้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่เรียกว่า CDCU plus VCU ที่ประกอบด้วยนักระบาดวิทยา นักกีฏวิทยา และนักเทคนิคการแพทย์ ในจังหวัดที่ผ่านการอบรมหลักสูตรควบคุมป้องกันโรคที่กรมฯ ได้จัดขึ้น และประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนทรัพยากรในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก และหากประชาชนสงสัยว่าจะป่วยจากโรคไข้เลือดออก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422