ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่หลังคลอดจนถึงอายุ 6 เดือน และกินนมแม่ต่อเนื่องร่วมกับอาหารตามวัยถึง 2 ปี  เพราะนมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ช่วยในการเจริญเติบโตและสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กในแบบที่นมผงไม่สามารถให้ได้ เนื่องในวันที่ 1 – 7 สิงหาคม ของทุกปี เป็นสัปดาห์รณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยในปี 2566 ภายใต้แนวคิด “Enabling Breastfeeding” “สานพลัง สร้างสรรค์สังคมนมแม่ เพื่อพ่อแม่ที่ต้องทำงาน”

วันนี้ (3 สิงหาคม 2566) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ “Enabling Breastfeeding” “สานพลัง สร้างสรรค์ สังคมนมแม่ เพื่อพ่อแม่ที่ต้องทำงาน” ณ หอประชุมสนามกีฬา อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ว่า จากการสํารวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2562 (MICs6) พบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน (EBF rate) เท่ากับร้อยละ 14.0 และเพิ่มขึ้นในปี 2565 (MICs7) เท่ากับ ร้อยละ 28.6 แม้ว่าแนวโน้มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ไทยและทั่วโลกกำหนดไว้ คือ เด็กไทยอย่างน้อยร้อยละ 50 กินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน ซึ่งจากผลการสำรวจ พบว่า ปัจจัยและสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยไม่สำเร็จ ได้แก่

  1. แม่ต้องกลับไปทำงาน เพราะสิทธิการลาคลอดของแม่สามารถลาคลอดได้เพียง 98 วัน (ประมาณ 3 เดือน)
  2. แม่มีความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง เชื่อว่าน้ำนมตนเองไม่เพียงพอ และไม่มีความรู้เพียงพอ

เรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนไปด้วยกัน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยสนับสนุนให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่อง ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ กินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่เพียงอย่างเดียว ในช่วง 6 เดือนแรก และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น เพราะนมแม่หยดแรกเปรียบเสมือนวัคซีนในการป้องกันโรค เพราะมีภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่สามารถหาได้จากนมผง มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ที่ช่วยในการเจริญเติบโตและสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เด็ก ทั้งนี้หลัง 6 เดือนเป็นต้นไป ควรให้เด็กกินอาหารในปริมาณน้อยๆ และมีความเหลว เพื่อให้ง่ายต่อการฝึกกลืนและกระบวนการย่อย เนื่องจากระบบย่อยอาหารของเด็กยังไม่สมบูรณ์ หากกินอาหารไม่ถูกต้องอาจทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย แพ้อาหาร และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากลำไส้อุดตันได้

“ปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทในการทำงานนอกบ้านมากขึ้น จึงส่งผลกระทบให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง เพื่อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามความต้องการ อีกทั้ง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะนมแม่สามารถผลิตได้เองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถให้ลูกกินได้ทุกที่ ทุกเวลา นอกจากนั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการทั้งร่างกายและสมอง และเป็นรากฐานแห่งชีวิตที่ดี ในระยะยาวของแม่และลูก กรมอนามัย จึงสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชน ขับเคลื่อนครอบครัว และสังคม สร้างสังคมนมแม่อย่างยั่งยืน เพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ในประเทศไทยประสบความสำเร็จ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : จุลินทรีย์สุขภาพในน้ำนมแม่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อาจพลิกวิกฤตโควิด-19 ในเด็กเล็ก มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ – สสส. ชี้ “นมแม่ = วัคซีน”

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org