ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เดินหน้าดูแลผู้สูงวัยทุกมิติ จับมือ พม. ดูแลสวัสดิการ การเงินการคลัง พร้อมเก็บข้อมูลสมรรถภาพผู้สูงอายุครั้งใหญ่ครั้งแรกของไทย สภาพร่างกายความพร้อมแบบไหนถึงเกษียณ คาดปีนี้เป็นรูปเป็นร่าง ก่อนศึกษาภาพใหญ่แล้วเสร็จราว 3-5 ปี ส่วนการรักษาปรับรูปแบบเป็นโฮมวอร์ด ดูแลผู้สูงวัยแม้อยู่บ้าน ล่าสุด สปสช. เห็นชอบ นำร่องกทม.ก่อนขยายทั่วประเทศ

 

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์  ให้สัมภาษณ์ภายในการประชุมวิชาการด้านเวชศาสตร์และวิทยาการผู้สูงวัย มหกรรมสุขภาพผู้สูงอายุ ครั้งที่ 4    ระหว่างวันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2566 ว่า  ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ โดยปีนี้ให้เป็นปีสุขภาพผู้สูงวัยไทย ซึ่งได้เข้าไปดูแลทุกโรงพยาบาลให้มีการตั้งเป็น คลินิกผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ใช่แค่บริการรักษาโรค แต่ยังตรวจสุขภาพ ไม่เป็นโรคก็เข้าไปเสริมสมรรถภาพทางกายได้ รวมไปถึงทุกมิติครบวงจร ไม่ได้ดูแค่โรคที่เป็น เช่น มาด้วยอาการเบาหวาน แต่คลินิกนี้จะตรวจทั้งหมด อย่างสมอง กล้ามเนื้อ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันคลินิกนี้มีทุกแห่งในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งสังกัดสำนักงานปลัดฯ และกรมการแพทย์

“การดูแลผู้สูงอายุไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่ยังมีเรื่องการเงินการคลัง เพื่อให้รู้ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ดูแลการใช้จ่ายต่างๆ รวมไปถึงการดูแลสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เป็นแบบครบวงจรทั้งหมด โดยในงานประชุมทั้ง 3 วันยังเชิญผู้เชี่ยวชาญจากมาเลเซีย มาให้ข้อมูลถึงการดูแลผู้สูงอายุ อย่างเรื่องการเงินการคลัง เราจะรวบรวมข้อมูลว่า มีกองทุนอะไรที่รองรับ และมีอาชีพอะไรจะรองรับผู้สูงอายุได้ ซึ่งเรื่องนี้ทุก รพ. จะทำงานร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และบางเรื่องก็จะเป็นภารกิจของท้องถิ่น” นพ.ธงชัย กล่าว  

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมฯโดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กำลังศึกษาวิจัยสมรรถภาพของผู้สูงอายุ โดยจะดูว่า Performance ของแต่ละช่วงอายุผู้สูงวัยเป็นอย่างไร เพราะหลายคนอาจเข้าใจว่า ร่างกายเริ่มอ่อนล้า เพราะแก่ตามวัย แต่จริงๆอาจไม่ใช่ อาจเป็นแก่เกินวัยก็เป็นได้ ดังนั้น เราจะรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ทราบว่า มีอะไรบ่งชี้ว่า ร่างกายเรากำลังจะเสื่อมแล้วหรือไม่ หรือต้องระวังอะไร ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้ทราบว่า อายุประมาณไหนทำอะไรได้บ้าง อย่างบางคนคิดว่าต้องเกษียณแล้ว แต่จริงๆร่างกายยังทำงานได้ และเหมาะสมกับอาชีพแบบไหน เป็นต้น

“เบื้องต้นน่าจะได้ข้อมูลเป็นรูปเป็นร่างภายในปีนี้ แต่เมื่อได้ข้อมูลมาระดับหนึ่งต้องทำการศึกษาภาพใหญ่ของประเทศอีก คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 ปีจะได้ข้อมูลระดับใหญ่ขนาดนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ส่วนช่วงอายุคาดว่าจะรวบรวมข้อมูลตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป เพื่อให้ทราบและเตรียมพร้อมก่อนเป็นผู้สูงอายุ เพื่อให้ทราบว่า สมรรถภาพแบบนี้ยังไม่ต้องเกษียณ ยังทำงานได้ ซึ่งต่างประเทศ อย่างสิงคโปร์ก็มีการดำเนินการ โดยได้ร่วมกับกรมการแพทย์ด้วยเช่นกัน” นพ.ธงชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการรวบรวมตรงนี้จะมาจากการเก็บข้อมูลจากคลินิกผู้สูงอายุในรพ.ใช่หรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง แต่จะทำงานร่วมกับอาจารย์โรงเรียนแพทย์ด้วย อย่างไรก็ตาม คลินิกนี้จะมีประโยชน์มาก จะช่วยประเมินทั้งหมด  เดิมจะตรวจเฉพาะที่เป็นโรค แต่ครั้งใหม่จะประเมินทุกด้าน ทั้งร่างกาย สมอง จิตใจ เป็นต้น

 “ในเรื่องการดูแลรักษาผู้สูงอายุ ในบางกลุ่มโรคไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล หรือมานอนรักษาในโรงพยาบาล เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่อยากมาโรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่ญาติพี่น้องก็อาจกังวลว่า เมื่ออยู่บ้านจะได้รับการดูแลรักษาดีหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เรามีระบบเทเลเมดิซีน หรือ โฮมวอร์ด(Home Ward) มีเจ้าหน้าที่ดูแล มีระบบเทเลเมดิซีนที่แพทย์ให้คำปรึกษาได้ เรื่องนี้จะช่วยผู้สูงอายุที่อดีตป่วยแล้ว แต่ไม่ยอมบอก เพราะไม่อยากมาโรงพยาบาล ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เห็นชอบเรื่องโฮมวอร์ดแล้ว เบื้องต้นระบบโฮมวอร์ดนำร่องในรพ.ราชวิถี ในพื้นที่กทม. ก่อนขยายทั่วประเทศต่อไป” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว