ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.เผยนโยบายตั้ง รพ.ทันตกรรม เป็นการดำเนินการปูทางสู่ “กรมทันตกรรมสุขภาพ”ในอนาคต แต่จุดสำคัญต้องให้งาน เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนรายละเอียดขอรอหารือ “รมว.สธ.” คนใหม่ เพื่อบรรจุเป็นนโยบาย ขณะที่ครม.เห็นชอบตั้งคณะแพทยฯในสถาบันพระบรมราชชนก จะช่วยผลิตบุคลากรตรงตามเป้าหมาย

 

รอ "รมว.สธ."คนใหม่หารือตั้ง "กรมทันตกรรมสุขภาพ"

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบผลการพิจารณากรณีกมธ.สาธารณสุข วุฒิสภาเสนอตั้งหน่วยงานดูแลนโยบายทันตกรรม ส่วนกระทรวงสาธารณสุขระบุอยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาตั้ง “กรมทันตกรรมสุขภาพ”  ว่า จริงๆเรื่องนี้มีการดำเนินการมาแล้ว อย่างการออกนโยบาย “โรงพยาบาล(รพ.)ทันตกรรม” ก็จะเป็นเรื่องเดียวกันที่สอดคล้องกัน ซึ่งมีการพูดในที่ประชุม และวันนี้คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบแล้ว ส่วนจะจัดการอย่างไรก็จะเป็นไปตามขั้นตอนข้างหน้าต่อไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะต้องขอหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)ท่านใหม่ก่อน ว่า จะมีการดำเนินการอย่างไร เพื่อบรรจุเป็นนโยบายและนำมาพิจารณาอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่าการตั้งกรมทันตกรรมสุขภาพ จะเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่ ใช้เวลานานหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า การจะตั้งอะไรต้องใช้เวลา โดยหลักเอางานมาก่อน เพราะโครงสร้างจะใช้เวลานานมาก ไม่เร็ว สิ่งสำคัญต้องให้งานออกมา เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ก่อน  อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เห็นตรงกันว่า เป็นงานสำคัญ

(ข่าวเกี่ยวข้อง :จับตาตั้ง "กรมทันตกรรมสุขภาพ" หลังครม.ทราบผลพิจารณากมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา และ สธ.)

ตั้งคณะแพทยฯสถาบันพระบรมราชชนกตอบโจทย์ผลิตบุคลากรในสธ.

เมื่อถามกรณีครม.ยังเห็นชอบการตั้งคณะแพทยศาสตร์ ของสถาบันพระบรมราชชนก เพื่อแก้ปัญหาหมอไม่เพียงพอหรือไม่ ปลัดสธ. กล่าวว่า การตั้งคณะแพทยศาสตร์ในสถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะทำให้การผลิตบุคลากรได้ตรงตามเป้าหมายมากกว่า โดยสถาบันพระบรมราชชนกจะเปิดรับนักศึกษาในช่วงปีหน้า ซึ่งจะเน้นการผลิตแพทย์เพื่อรองรับในชนบท พื้นที่ต่างจังหวัด

ถามอีกว่าการผลิตแพทย์ลักษณะนี้จะคล้าย โครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน หรือโครงการ ODOD หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า  คล้ายๆกันแต่ไม่เหมือนทีเดียว โดยโครงการโอดอทจะเป็นหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่เดิม แต่การผลิตแพทย์ของสถาบันพระบรมราชชนก จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาสถาบันฯ มีหลักสูตรการเรียนการสอนใน 2 คณะ คือ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ โดยมีวิทยาลัย 39 แห่งทั่วประเทศทุกเขตสุขภาพ 13 เขต ล่าสุดในปี 2566  สถาบันพระบรมราชชนก และสภาสถาบันพระบรมราชชนก อนุมัติให้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์เป็นส่วนราชการของสถาบันพระบรมราชชนก เพื่อผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบสุขภาพปฐมภูมิ

อีกทั้ง ยังมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและผลิตบัณฑิตแพทย์ โดยสถาบันพระบรมราชชนก จะร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก 3 แห่ง คือ ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช, ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลราชบุรี และศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ พัฒนาและจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงระหว่างความรู้ชั้นปรีคลินิกกับชั้นคลินิก รวมถึงร่วมมือกันพัฒนาอาจารย์ นักศึกษาแพทย์ การวิจัย การบริการทางวิชาการ การประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินผลหลักสูตร ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 – 2576

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงตั้งคณะแพทยศาสตร์ในสถาบันพระบรมราชชนก

“หมอวิชัย เทียนถาวร” เผยทิศทาง สบช. ปี 66 ผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้โอกาสเด็กพื้นที่ห่างไกล

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org