ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ. ย้ำหน่วยบริการปฐมภูมิปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ใช้เทคโนโลยีในการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนและสอดคล้องตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ประสานการทำงานอย่างไร้รอยต่อ

 

เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จ.เชียงราย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสมาคมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2566 ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ ภายใต้รูปแบบใหม่ระบบสุขภาพระดับอำเภอ”  ว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง และมีสถานพยาบาลครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยระดับชุมชน มี อสม. รพ.สต. ดูแล ระดับอำเภอ มีโรงพยาบาลชุมชน และระดับจังหวัด มีโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ประสานการดูแลสุขภาพประชาชนเป็นเครือข่าย  

อย่างไรก็ตาม ระบบสาธารณสุขโดยเฉพาะระบบสุขภาพปฐมภูมิ ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของระบบสุขภาพคือประชาชนและชุมชน ต้องสร้างการมีส่วนร่วมและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดระบบบริการให้ครอบคลุมประชากรทั้งกลุ่มสังคมเมือง กึ่งเมือง และพื้นที่พิเศษ สอดคล้องตามบริบททางสุขภาพของแต่ละพื้นที่ อาทิ การป่วยจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) การดูแลผู้ป่วยติดเตียง การเป็นสังคมสูงอายุ เป็นต้น

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ในส่วนของการดำเนินงานในระยะต่อไป จะมุ่งยกระดับบริการให้กับประชาชน ตามแนวนโยบายของรัฐบาล โดยสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการควบคุมกำกับ ติดตามดูแลกฎหมาย และออกแบบระบบบริการสุขภาพของสถานบริการระดับปฐมภูมิ ต้องมีการปรับโครงสร้างให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนไปหลังมีการถ่ายโอน สอน./รพ.สต. ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งการประชุมวิชาการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้บุคลากรสาธารณสุขในหน่วยบริการปฐมภูมิได้เห็นแนวโน้มของปัญหาระดับพื้นที่ชัดเจนขึ้น และนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนางานให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ยิ่งขึ้น