ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค  เตรียมเข้าพบแสดงความยินดีรมว.สาธารณสุข 15 ก.ย.นี้ พร้อมหาทางออกปัญหาค่าตอบแทน สวัสดิการลูกจ้างรายวัน รายคาบ พกส.ฯลฯ ขณะที่ “หมอชลน่าน” เล็งหารือสำนักงาน ก.พ. เรื่องอัตรากำลัง แนวโน้มออกกฎหมายเฉพาะแยกตัวปี 68

จากกรณีก่อนหน้านี้ “กลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค” ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพรรคเพื่อไทย ให้ช่วยผลักดันในการบรรจุให้ลูกจ้างรายวัน รายคาบ รายเดือน สายสนับสนุน 56 สายงาน ปรับสถานะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และขอให้ช่วยผลักดันให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 56 สายงาน ได้ปรับค่าจ้างและค่าตอบแทน และให้ได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำในกรณีพิเศษ   โดยมีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ซึ่งก่อนหน้านั้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย เข้ารับข้อร้องเรียนดังกล่าว

"หมอชลน่าน"ให้กลุ่มลูกจ้าง สธ. พนักงานกระทรวงฯ เข้าพบ 15 ก.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าเมื่อวันที่ 14 กันยายน ว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ทางกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค นำโดย น.ส.อภิสราธรณ์ พันธ์พหลเวช ตัวแทนกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค   เข้าพบในวันที่ 15 กันยายน 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ที่อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) เช่นเดียวกันให้ทางสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย เข้าพบในเวลา 10.30น. วันเดียวกัน

น.ส.อภิสราธรณ์ พันธ์พหลเวช ตัวแทนกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค  กล่าวว่า พวกตนเตรียมตัวเดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอเข้าพบและแสดงความยินดีกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2566 ได้เข้าพบ นพ.ชลน่าน ขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งทางพวกตนได้ยื่นขอความช่วยเหลือ เรื่อง การปรับเพิ่มค่าตอบแทน สวัสดิการของลูกจ้าง และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.)  โดยในวันที่ 15 กันยายน ได้ขอเข้าพบและท่านรัฐมนตรีฯ ตอบรับ ซึ่งพวกตนดีใจมาก โดยจะมาแสดงความยินดีด้วยเช่นกัน

ข้อเรียกร้องของกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค ที่เคยเรียกร้องมาก่อนหน้านั้น ประกอบด้วย

1.ขอให้มีการกำหนดระยะเวลา และหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง คือ ให้ลูกจ้างรายวัน รายคาบ และจ้างเหมาเป็นลูกจ้างรายเดือน และลูกจ้างรายเดือนเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ขอให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.)ทุกสายงาน ได้ปรับเป็นพนักงานราชการ  

2.ให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ได้รับค่าตอบแทนให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานหลังจากสถานการณ์โควิด19 ที่ผ่านมา โดยให้มีการปรับเพิ่มจากฐานเงินเดือนเดิม 3 พันบาท  

ทั้งนี้ จากข้อ 2 หากไม่สามารถดำเนินการได้ ขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนแบบขั้นบันได ดังนี้

-อายุงาน 3-5 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 20%

-อายุงาน6-10 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 40%

-อายุงาน 11-15 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 60%

-อายุงาน 16-20ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 80%

-อายุงาน 21-25 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 100%

นอกจากนี้ ขอพิจารณาสวัสดิการของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม คือ ขอสวัสดิการเทียบเท่าลูกจ้างประจำ และยกเลิกสัญญาจ้างจากเดิม 4 ปี เป็น 60 ปี รวมถึงขอการบรรจุข้าราชการของ พกส. 63 สายงาน(Back Office) ตามมติครม.ที่ผ่านมา

(ข่าวเกี่ยวข้อง : พรรคเพื่อไทยรับข้อเรียกร้องดันบรรจุข้าราชการ -ค่าเสี่ยงภัยโควิด)

รมว.สธ.จ่อหารือ ก.พ.ถกอัตรากำลัง พร้อมพิจารณาทำกม.แยกตัวปี 68

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา    นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ปัญหาบุคลากร ด้วยการจัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข ว่า การบริหารจัดการทรัพยากรบุคลากร จะมีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เนื่องจากบุคลากร สธ.ขณะนี้เราขึ้นกับ ก.พ. ซึ่ง ก.พ.ก็ดูแลหลายกระทรวง รวมทั้งหมด 7-8 แสนคน แต่เป็นบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขไป 5 แสนคน ถ้าเราสามารถแยกตัวออกมามีระเบียบบริหารราชการบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเอง มีกฎหมายตัวเองรองรับ จะทำให้เกิดความคล่องตัวการคัดเลือกบุคลากรเข้าสู่ระบบ การเรียนการสอน การใช้งาน การเอามาดูแล จะทำให้เอื้อต่อการบริการประชาชน

"เลยตั้งใจว่าจะพูดคุยกับ ก.พ.ตั้งใจว่า ปี 2568 จะสามารถเสนอกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเข้าสู่สภาได้ เพื่อให้ สธ.พิจารณา เรื่องกรอบอัตรากำลังของตนเอง ออกจาก ก.พ. ปลดล็อกข้อผูกมัดที่มีลักษณะเหมือนตัดเสื้อโหลให้ราชการ ซึ่งการจ้างแพทย์พยาบาล เภสัชกร เรามีศักยภาพการจ้างงานเองได้ หากสามารถผลักดันกฎหมายออกกฎหมายรองรับก็จะช่วยให้ปลดล็อกเรื่องนี้ได้" นพ.ชลน่านกล่าว

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาพยายามดำเนินการเรื่องนี้มาหลายรอบ มั่นใจว่าจะสำเร็จในยุคท่านหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็จะพยายามให้สำเร็จให้ได้

 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : "หมอชลน่าน" มอบสธ.ทำกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. ในปี 68)