ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อีกเสียง! ตัวแทนกลุ่มลูกจ้างฯ - นักวิชาการสาธารณสุข ดัน "ควรปรับเงินเดือนขรก.-จนท.รัฐ" ให้ทุกวิชาชีพเท่าเทียมกัน   พร้อมทวงถามการบรรจุขรก.โควิดรอบ 2 และขอผลักดันการบรรจุลูกจ้างสายสนับสนุน 56 สายงาน ทั้งประเภทรายวัน รายคาบ รายเดือน ฯลฯ

ตามที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในแวดวงบุคลากรสาธารณสุข มีการพูดคุยและแชร์หนังสือจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ซึ่งเมื่อถามว่า ในมุมมองถ้าเงินเดือนข้าราชการปรับขึ้นจริง ในส่วนลูกจ้างของสธ.ที่เคยมาร้องเรื่องเงินเดือน ควรต้องปรับขึ้นหรือไม่อย่างไร...  ล่าสุด 7 พ.ย. 2566  น.ส. อภิสราธรณ์ พันธ์พหลเวช ตัวแทนกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค และ นายวรัญญู พรหมเพ็ญ นักวิชาการสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ดังนี้

นายวรัญญู พรหมเพ็ญ นักวิชาการสาธารณสุข กล่าวว่า ควรจะปรับขึ้นด้วยเนื่องจากปัจจุบันลูกจ้างสายงานนักวิชาการมีเงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 11,300 บาท ซึ่งตนทำงานมาเกือบ 5 ปี มีเงินเดือนเพียง 13,560 บาทเท่านั้น ขึ้นปีนึงไม่เกิน 600 บาท ซึ่งปัจจุบันคงดำรงชีพได้ยากลำบาก และเลี้ยงตัวเองยังไม่ค่อยไหว อย่างน้อยควรปรับให้ได้ 15,000 บาทก่อนก็ยังดี นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความคืบหน้าการบรรจุข้าราชการโควิดรอบ 2 ว่าไปถึงไหนแล้ว เพราะปัจจุบันนโยบายสร้างขวัญกำลังใจของ รมต. ดูแลความก้าวหน้าให้แค่บางวิชาชีพ ซึ่งในโรงพยาบาลหรือระบบสาธารณสุขมันไม่ได้มีแค่ 2-3 วิชาชีพ มันอยู่รวมกันหลายวิชาชีพ จึงควรดูแลและสร้างขวัญกำลังใจทั้งหมดให้เท่าเทียมกัน 

ด้าน น.ส. อภิสราธรณ์ พันธ์พหลเวช ตัวแทนกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค กล่าวว่า ลูกจ้างควรจะปรับอย่างยิ่ง เพราะพวกตนทำงานอยู่ในองค์กรนี้ 20 ปีเงินเดือนแค่ 12,000 บาท อย่างเพื่อนที่อายุ 28 ปี เงินเดือนก็หมื่นกว่าบาท ซึ่งแต่ก่อนพวกเราเคยมีตำแหน่งลูกจ้างประจำ  เงินเดือนก็จะประมาณ 2-3 หมื่นบาท  สวัสดิการก็เหมือนข้าราชการทุกอย่าง  ยกเว้นเงินเดือนที่น้อยกว่าเขา และพอเราถูกยุบตำแหน่งลูกจ้างประจำ ทำให้กลุ่มลูกจ้างของกระทรวงสาธารณสุขที่มีรายได้น้อยที่สุดได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง  ขาดการเหลียวแลจากผู้บริหารสูงสุด "เราอยากให้เอาฐานของลูกจ้างประจำมาปรับขึ้นให้เท่าเทียมกัน"

"อีกเรื่องคือ จากสถานการณ์โควิด19 ที่ผ่านมา กลุ่มลูกจ้างฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้ใหญ่หลายๆ ท่านเพื่อขอความเป็นธรรมให้ช่วยผลักดันในการบรรจุข้าราชการโควิด อยากให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องช่วยบรรจุพวกเราเป็นลูกจ้างประจำในกรณีพิเศษกลับคืนมา แต่ผู้ใหญ่ไม่ให้บอกว่ามันเป็นตำแหน่งที่ถูกยุบไปแล้ว แต่มันย้อนแย้งตรงที่ว่า เขาสามารถบรรจุให้กับข้าราชการได้  แต่เขาไม่สามารถบรรจุให้พวกเราได้ มันรู้สึกเจ็บปวดตรงที่ว่าพวกเราจะเกษียณอยู่แล้ว เงินเดือนยังไม่ถึง 15,000 บาทเลย กู้อะไรก็ไม่ผ่าน เป็นพวกเครดิตไม่ดี สถาบันการเงินไม่เชื่อถือ ทำงานมา 20 กว่าปีพวกเรายังต้องต่อสัญญาทุก 4 ปี สถาบันการเงินมองว่าพวกเราไม่มีความมั่นคง น้อยใจมากที่ประเทศไทยเรามีแต่ความเหลื่อมล้ำ"

"เราไปยื่นหนังสือมาหลายที่ ไม่ว่าจะเป็น สำนักนายกรัฐมนตรี  ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1111  สำนักงานปลัดกระทรวงฯ  สำนักงานก.พ แต่กลุ่มพวกเราไม่มีความสำคัญใดๆเลย คาดว่าหากกระทรวงสาธารณสุขทำเช่นนี้ต่อไป คงไม่มีใครอยากมาทำงานให้กับ สธ.แน่นอน เราอยากให้ผู้ใหญ่มองเห็นถึงความสำคัญเท่าๆกัน จึงอยากวิงวอนให้ผู้ที่มีอำนาจ "ท่านเศรษฐา" หรือใครก็ได้ช่วยเหลือกลุ่มลูกจ้างด้วย โดยเฉพาะกลุ่ม 56 สายงาน ฯลฯ"อภิสราธรณ์ กล่าว

น.ส. อภิสราธรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างกลุ่ม 56 สายงานเงินเดือนตันแค่ 18,000 บาท แต่ทุกคนไม่มีใครได้ถึง 18,000 บาทเลยด้วยซ้ำ ได้แค่ 15,000 บาท (กรณีคนที่เกษียณแล้ว) มองว่ามันเป็นการจ้างงานที่ไม่ยุติธรรมอย่างที่สุด และไม่น่าเชื่อว่ากลุ่มลูกจ้างเหล่านี้จะได้เงินเดือนน้อยกว่ากระทรวงอื่นๆ ทั้งที่เราดูแลผู้ป่วย ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่มาตลอด และในส่วนการประเมิน จะให้กลุ่มลูกจ้าง 1 ปีประเมิน 2 ครั้ง แต่ได้รับเงินเดือนขึ้นแค่ปีละ 1 ครั้ง ประมาณ 200-300 บาทต่อปีเท่านั้น 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

-ลูกจ้าง สธ.ขอ “หมอชลน่าน” สร้างขวัญกำลังใจ เพิ่มเงินเดือนอีก 3 พันบาท ขอ พกส.ปรับเป็นพนักงานราชการ

-“ชลน่าน” ลั่นปรับเงินเดือนชาวสาธารณสุข ป.ตรี 2.5 หมื่นบาท -พิจารณาทุกข้อเรียกร้อง(ชมคลิป)

แวดวงสาธารณสุขแห่แชร์หนังสือ “นายกฯเศรษฐา”  เตรียมศึกษาปรับเงินเดือนข้าราชการ- จนท.รัฐ  

- สธ.รอผลศึกษาขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนลูกจ้างอื่นๆ โดยหลักขยับเช่นกัน