ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชุมคกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบเร่งรัดฉีดวัคซีน HPV  ขยายกลุ่มเป้าหมาย 11-20 ปีทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบรวม 1 ล้านคนภายใน 100 วัน พร้อมบริหารสัญญาวัคซีนโควิดใหม่ปี 67 จากแอสตร้าฯ เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB มูลค่า 2 พันล้าน ประหยัดงบไป 4 พันล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2566 ว่า เป็นการประชุมคณะกรรมการฯ ชุดนี้ครั้งแรกของตน ที่ประชุมได้เห็นชอบเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV หรือมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงอายุ 11 - 20 ปีทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบ รวมถึงกลุ่มแรงงาน เป้าหมาย 1 ล้านโดสใน 100 วัน เป็นหนี่งใน Quick Win นโยบายของสธ. มีแผนรณรงค์การฉีดคลิกออฟเดือนต.ค.นี้ โดยทำข้อตกลงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงแรงงาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมความพร้อมจัดแคมเปญรณรงค์คิกออฟ การฉีดต้องฉีด 2 เข็มระยะห่าง 6-12 เดือน ซึ่งเป้าหมายขณะนี้ยังมีผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มแรกอยู่พอสมควร โดยจะจัดให้มีการทะเบียนแจ้งความประสงค์การรับบริการทั้งเข็มแรกและเข็มสองจนครบ 1 ล้านโดส ที่เหลือมีแผนดำเนินการปี 2567 รูปแบบบริการจะให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เช่นการฉีดในสถานศึกษาและรถโมบาย 

นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด- 19 ในปี 2567 จากเดิมที่ได้ทำสัญญากับบริษัทแอสตร้าเซเนก้า  ล่าสุดสามารถเจรจาได้ข้อตกลงปรับสัญญาเปลี่ยนจากวัคซีน 19 ล้านโดสด้วยงบ 6 พันล้านบาท มาเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ( Long Acting Antibody : LAAB)  จำนวน 36,000 โดส มูลค่า 2 พันล้านบาท ทำให้ประหยัดงบประมาณไปถึง 4 พันล้านบาท ถือเป็นการจบสัญญา   โดยในปี 2567 วัคซีนที่มีอยู่และที่รับบริจาคมีเพียงพอรองรับทั้งในภาวะปกติและหากมีการระบาดโดยไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่ม ส่วนจะต้องฉีดเป็นเข็มกระตุ้นอย่างไรอยู่ที่คณะกรรมการวิชาการจะพิจารณาโดยคำถึงถึงสถานการณ์และคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบสถานการณ์โรคติดต่อที่ระบาดเพิ่มขึ้นในขณะนี้ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ ได้สั่งการให้เพิ่มมาตรการป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน เตรียมพร้อมทีม CDCU ในการสอบสวนควบคุมโรค และเร่งฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง และ อสม. ส่วนโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย โดยมีความเสี่ยงจากการมีคู่เพศสัมพันธ์หลายคนหรือกับคนแปลกหน้า ซึ่งสธ.ได้ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง คัดกรอง แยกกักรักษาผู้ป่วย และสื่อสารถึงประชาชน โดยเน้นประชากรกลุ่มเสี่ยงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

​นพ.ชลน่าน  กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาถึงอุบัติการณ์โรคทางเดินหายใจ ซึ่งหลังจากปรับโรคโควิด-19 เป็นโรคเฝ้าระวัง มีการผ่อนปรนมาตรการและลดการสวมใส่หน้ากากอนามัย  ที่ประชุมเห็นว่าในช่วงฤดูฝนขณะนี้ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจมากขึ้น จึงมีข้อเสนอให้สธ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ความเข้าใจในวิธีปฎิบัติการดูแลสุขอนามัยป้องกันโรค เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัยในเวลาอยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก หรือในโรงเรียน ไม่ได้บังคับแต่เป็นการดูแลป้องกันตนเอง 

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนป้องกันฝีดาษ องค์การอนามัยโลกได้ประสานจัดหามาประเทศไทยระยะแรกประมาณ 1 พันโดส อยู่ระหว่างการนำเข้า เนื่องจากมีจำกัด จะฉีดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลการทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ กลุ่มพิเศษที่ใช้ยากดภูมิเช่น HIV ส่วนยารักษาขณะนี้มีสำรองไว้ 200 ราย ใช้ไปเพียง 10 % ใช้เฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัส หากไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงไม่ต้องกังวล