ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

6 องค์กรผนึกใช้เทคโนโลยีเชื่อมระบบการบริการสุขภาพปฐมภูมิ ยกระดับ “ร้านยาใกล้บ้าน” ลดแออัด ลดรอคิว สอดคล้อง “30 บาทพลัส” สปสช.ชูนอกจากรับยา 16 กลุ่มอาการฟรี!  ยังมีชุดตรวจคัดกรองมะเร็งเอชพีวี สสส.หนุนระบบบริการสุขภาพป้องกันโรคปฐมภูมิ  ลดเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ชี้บุหรี่สาเหตุหนึ่งทำสูญเสียทางเศรษฐกิจ 3.5 แสนล้านบาท/ปี  สร้างเครือข่ายร้านยาพาเลิกบุหรี่ 386 ร้านทั่วประเทศ

 

“รับยาที่ร้านยา” เป็นอีกการบริการระดับปฐมภูมิ ที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ไม่ต้องไปรอคิวรับยาในโรงพยาบาล โดยเน้นกลุ่มประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย  ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ร่วมกับสภาเภสัชกรรม ให้บริการแก่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 16 กลุ่มอาการรับยาฟรี! ที่ร้านยาคุณภาพ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานเป็น ร้านขายยาแผนปัจจุบัน(ข.ย.1)   

ล่าสุดมีการขยายความร่วมมือและยกระดับการบริการ “ร้านยาใกล้บ้าน” มากขึ้น โดย สปสช. สภาเภสัชกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กรุงเทพมหานคร กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และมูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน ลงนามความร่วมมือ “การพัฒนาระบบบริการด้านเภสัชกรรม โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบบริการด้านสาธารณสุข” เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

รศ.พิเศษ ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 6 องค์กรในครั้งนี้ เพื่อดำเนินงานความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และระบบบริการต่าง ๆ ในการสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การลดความแออัด การเชื่อมต่อและส่งต่อผู้ป่วย เพื่อให้เกิดระบบเครือข่ายของการดูแลประชาชนตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ (ร้านยา) จนถึงระดับตติยภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ จะมีการดำเนินงานความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างบริการ เภสัชกรรมกับทุกฝ่าย ตลอดจนร่วมมือกันเพื่อให้เกิดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของระบบบริการสาธารณสุขที่ทันสมัยอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยเฉพาะการสร้างบทบาทด้านนวัตกรรมบริการสาธารณสุขเพื่อประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ร้านยาคุณภาพ ปชช.รับยา 16 กลุ่มอาการฟรี! ยังมีบริการตรวจคัดกรองมะเร็ง

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.ร่วมกับสภาเภสัชกรรม ทำร้านยาคุณภาพดูแลผู้ป่วยบัตรทองเจ็บป่วยทั่วไป 16 กลุ่มอาการ ซึ่งตอนนี้มีร้านยาที่เข้าร่วมเรียกว่า ร้านขายยาแผนปัจจุบัน(ข.ย.1) ประมาณ 1,600-1,700 แห่ง ตั้งเป้าให้ได้ประมาณ 2 พันแห่งในปี 2566  ซึ่งตั้งใจกระจายให้ได้ทุกอำเภอทั่วประเทศ ขณะนี้พื้นที่กรุงเทพฯ เข้าร่วมมากที่สุด แต่เราต้องการขยายบริการให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น จึงเกิดความร่วมมือครั้งนี้ โดยจะทำแบบครบวงจร ไม่ใช่แค่การรักษา แต่จะเป็นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค อย่างเรื่อง “มะเร็งครบวงจร” จะมีเรื่องการคัดกรองมะเร็งต่างๆ เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายร่วมกัน ยกตัวอย่าง การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ทุกสิทธิสุขภาพสามารถมารับชุดตรวจได้ที่ร้านยา และทำการตรวจได้ด้วยตนเองที่เรียกว่า  DNA Test เมื่อตรวจเองแล้วก็ให้นำชุดตรวจดังกล่าวมาที่ร้านยานั้นๆ และร้านยาจะผูกเป็นเครือข่ายกับทาง รพ.  ไม่ว่าจะเป็นส่งชุดตรวจไปยัง รพ.เพื่อให้ตรวจทางห้องปฏิบัติการ จากนั้นเมื่อได้ผลตรวจก็จะส่งกลับและแจ้งประชาชนที่รับบริการ

“เรียกว่า ร้านยาจะทำแบบเบ็ดเสร็จ คือ มีชุดตรวจให้ประชาชนมารับ ด้วยการจองผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์  ซึ่งประชาชนสามารถดูได้ว่ามีร้านยาใกล้บ้านตรงไหน จากนั้น ร้านยาจะรับชุดตรวจจากประชาชนเพื่อส่งผลตรวจให้รพ. และเมื่อได้ผลตรวจ หากเป็นผลบวก ทางร้านยามีหน้าที่ตามประชาชนไปรับการรักษาก็จะครบวงจร รวมไปถึงเรื่องการใช้ยาอื่นๆ โดยทางร้านยาจะมีการติดตามคนไข้ว่าดีขึ้นหรือไม่ ไม่ดีขึ้นก็ส่งไป รพ. ซึ่งที่สภาฯ ดำเนินการแล้วคือ ติดตามอาการคนไข้ ควบคุมร้านยาให้มีเภสัชกรประจำร้าน ผ่านการอบรมจากสภาฯ การันตีเรียบร้อยว่า คนไข้ 30 บาทได้รับบริการตรงตามมาตรฐาน นี่คือสิ่งที่เราจะยกระดับ 30 บาทพลัส สอดคล้องกับนโยบายมะเร็งครบวงจร” รองเลขาธิการสปสช.กล่าว

เบิกจ่ายงบฯเหมือนหน่วยบริการทั่วไป

เมื่อถามว่าร้านขายยาเหล่านี้จะได้รับงบฯการจ่ายเหมือหน่วยบริการทั่วไปใช่หรือไม่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ร้านขายยา ที่เข้าร่วมโครงการจะนับเป็นหน่วยบริการ เหมือนรพ. ทางสปสช.มีระบบเบิกจ่ายไม่แตกต่างกัน

16 กลุ่มอาการประกอบด้วย

ทั้งนี้  สำหรับ 16 กลุ่มอาการ ประกอบด้วย อาการปวดหัว เวียนหัว ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ถ่ายปัสสาวะขัด/ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ ตกขาวผิดปกติ อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน บาดแผล ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู 

อนาคตพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกลบริการคนกรุง

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่ กทม.จะได้รับความสะดวกในการเข้าถึงยาในร้านยาใกล้บ้าน นอกจากการรับยาแล้ว ในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบทางไกลให้ประชาชนสามารถปรึกษากับเภสัชกรในร้านยาได้ ในกรณีอาการป่วยเบื้องต้นที่ไม่ซับซ้อน ทั้งเชื่อมโยงกับศูนย์บริการสาธารณสุขแต่ละเขตที่มีแพทย์ประจำ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการปรึกษาทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเบื้องต้นขณะนี้มีการดำเนินการเชื่อมโยงกับ รพ.กลาง และ รพ.ราชพิพัฒน์ และในอนาคตจะเตรียมพัฒนาเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขและรพ.ของ กทม. ซึ่งจะเป็นพัฒนาระบบให้ครบวงจรต่อไป

สวทช.หนุนเทคโนโลยีระบบบริการเภสัชกรรม

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) มีภารกิจและเป้าหมายหลักมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญดำเนินงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างฐานรากสำคัญด้านเทคโนโลยีของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ สวทช. ได้ตระหนักอย่างยิ่งถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีระบบบริการด้านเภสัชกรรมและด้านการสาธารณสุข ที่มาประยุกต์ใช้ในการดูแลประชาชนและผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ จึงสนับสนุนเทคโนโลยีในการพัฒนาระบบการให้บริการด้านเภสัชกรรมและนวัตกรรมบริการด้านสาธารณสุข รวมทั้งการให้ข้อมูลความต้องการระหว่างกันเพื่อพัฒนาระบบบริการดังกล่าว เพื่อให้หน่วยบริการสามารถนำเทคโนโลยีพัฒนาระบบการให้บริการทั้งด้านเภสัชกรรมและนวัตกรรมบริการด้านการสาธารณสุขไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง

“สวทช. พร้อมที่ให้การสนับสนุนบุคลากร ทรัพยากร ภายใต้กรอบพันธกิจของหน่วยงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาและใช้เทคโนโลยี ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาและการใช้งานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อร่วมกันองค์กรต่าง ๆ ในการขับเคลื่อน การให้บริการด้านเภสัชกรรมและด้านการสาธารณสุขของประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพ มีความทันสมัย ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เกิดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของระบบบริการสาธารณสุขที่ทันสมัย เพื่อการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยขยายผลการใช้งานในวงกว้างเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ทั่วถึงและเท่าเทียมต่อไป” ดร.อดิสร กล่าว

สสส. สร้างเครือข่ายร้านยาพาเลิกบุหรี่ 386 ร้านทั่วประเทศ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 6 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การป้องกันและรักษาโรค โดยใช้ระบบเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดระบบเครือข่ายการเชื่อมต่อและส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิคือร้านยา ไปจนถึงระดับตติยภูมิคือโรงพยาบาล ที่มุ่งเน้นการป้องกันและรักษาโรคที่เกิดจากยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากคนสูบบุหรี่ แม้สูบไม่ทุกวัน จะมีความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 แต่ละปีคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่กว่า 80,000 คน หรือร้อยละ 18ของการเสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 352,000ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ สสส. มีเครือข่ายร้านยาพาเลิกบุหรี่ 386 ร้านทั่วประเทศ และพัฒนาระบบบริการเภสัชกรรมทางไกลที่ประชาชนเข้าถึงบริการทั่วประเทศ ที่พร้อมจะสนับสนุนความร่วมมือการสร้างเสริมสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกบุหรี่ สุรา และการจัดการปัญหาการใช้ยา เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะดี ปลอดภัยจากควันบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์