ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ดูแล “ผู้ป่วยระยะกลาง 4 กลุ่มโรค รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบเข้มข้น” เผย 4 ปี พัฒนาต่อเนื่อง รุกบริการนอกหน่วยบริการและในชุมชน ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการให้กับผู้ป่วย เพิ่มการฟื้นคืนสภาพ ลดความพิการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  พร้อมเปิดข้อมูล ปี 2566 มีผู้ป่วยรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ เกือบ 3.8 หมื่นคน เป็นจำนวนกว่า 2.48 ล้านครั้ง  

วันที่ 23 ต.ค. 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บริการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate care : IMC) เป็นบริการที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่พ้นภาวะวิกฤติแล้วและมีอาการคงที่ แต่ยังมีความผิดปกติของร่างกายบางส่วนอยู่ หรือมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องได้รับการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายโดยทีมสหสาขาวิชาชีพอย่างต่อเนื่องจนครบในระยะ 6 เดือน หลังพ้นระยะวิกฤต (golden period) 

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยระยะกลางได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบเข้มข้นแล้ว สปสช. ได้มีการหารือ Service plan Intermediate care กระทรวงสาธารณสุข  ราชวิทยาลัยเวชศาสตร์ฟื้นฟู และสถาบันสิรินธรฯ และมีการจัดทำข้อเสนอและหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง โดยเริ่มในปีงบประมาณ 2564 ที่อ้างอิงตามแนวทาง CPG ของ Service plan IMC เบื้องต้นกำหนดสิทธิประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย 3 กลุ่มโรค คือ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะและสมอง (acute brain injury) ผู้ป่วยบาดเจ็บทางไขสันหลัง (spinal cord injury) หรือ และ ต่อมาในปีงบประมาณ 2566 จึงขยายเพิ่มเติมการดูแลผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรงในรายการบริการด้วย

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ในส่วนของบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ นี้ มีทั้งบริการกายภาพบำบัด กำหนดไม่เกิน 20 ครั้ง กิจกรรมบำบัดและการแก้ไขการพูด กำหนดรวมกันไม่เกิน 10 ครั้ง รวมทั้งหมดเป็นบริการจำนวน 30 ครั้ง/ราย ซึ่งการรับบริการในแต่ละครั้ง เป็นการจัดบริการแบบเข้มข้น ระยะเวลาต้องไม่น้อยกว่า 45 นาที เป็นการรับบริการจากนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และนักแก้ไขการพูด โดยบริการเหล่านี้ล้วนเป็นบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ที่จำเป็นต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับบริการทั้งในรูปแบบผู้ป่วยนอก หรือส่งต่อรับบริการที่คลินิกกายภาพบำบัด หรือเป็นบริการผู้ป่วยในชุมชนได้ ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนหลังพ้นระยะวิกฤต

สำหรับการรับบริการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง ภาพรวมการเข้าถึงบริการได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี  2564 มีการรับบริการจำนวน 12,573 คน เป็นจำนวน 59,163 ครั้ง และในปี 2566 เพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นจำนวน 37,987 คน เป็นการรับบริการจำนวน 247,996 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นบริการกายภาพบำบัด จำนวน 37,211 คน เป็นจำนวน 158,523 ครั้ง, การแก้ไขการพูด จำนวน 237 คน เป็นจำนวน 315 ครั้ง และกิจกรรมบำบัด จำนวน 7,808 คน เป็นจำนวน 23,940 ครั้ง 

นอกจากนี้ตามที่ สปสช. ได้เปิดให้รับบริการดูแลผู้ป่วยระยะกลางนอกหน่วยบริการหรือในชุมชนที่เพิ่มการเข้าถึงบริการ มีผู้ป่วยที่รับบริการที่นอกหน่วยบริการหรือในชุมชน จำนวน 20,836 คน เป็นจำนวน 65,019 ครั้ง 

“จากข้อมูลข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่ได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยส่วนหนึ่งสามารถกลับมาดำเนินกิจวัตรประจำวันและดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่ง เป็นสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทองฯ เพื่อดูแลคนไทย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว