ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ผนึกกำลังระดมสมองทำแผนปฏิบัติราชการของกลุ่มธัญญารักษ์ เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายต้านยาเสพติด Quick win จัดตั้ง  1 จังหวัด 1 “มินิธัญญารักษ์”

กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ทำแผนปฏิบัติราชการของกลุ่มธัญญารักษ์ ขับเคลื่อนการดำเนินงานของกลุ่มธัญญารักษ์ เตรียมพร้อมเดินหน้าดำเนินงานตามนโยบาย Quick win ในประเด็นการป้องกันปราบปรามและบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด ดำเนินการจัดตั้ง  1 จังหวัด 1 “มินิธัญญารักษ์” ภายใน 100 วัน

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบาย Quick win ในประเด็นการป้องกันปราบปรามและบำบัดรักษาฟื้นฟู ผู้ป่วยยาเสพติด โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศว่าใน 100 วัน จะจัดตั้ง 1 จังหวัด 1 “มินิธัญญารักษ์” ซึ่งกรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทหน้าที่ด้านการพัฒนาวิชาการ และบริการ กำหนดมาตรฐานการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ตรวจติดตาม และรับรองคุณภาพ  HA  ยาเสพติด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน

ตลอดจนพัฒนาระบบการรักษา โปรแกรมต่างๆ  รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดให้มีคุณภาพ สร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งและสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพ ได้แก่ การอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ การพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานพยาบาลยาเสพติดการพัฒนาระบบบริการลดอันตรายจากการใช้ยา และการบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สอดรับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติราชการของกลุ่มธัญญารักษ์ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติราชการของกลุ่มธัญญารักษ์ และร่วมกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกลุ่มธัญญารักษ์ เตรียมพร้อมเดินหน้าดำเนินงานตามนโยบาย Quick win ในประเด็นการป้องกันปราบปรามและบำบัดรักษาฟื้นฟู  

โดยมีการบรรยาย และการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันระหว่างทีมผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารระดับกลาง รวมถึงภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกลุ่มธัญญารักษ์ ใน 3 ด้านสำคัญ คือ ด้านข้อมูลและวิชาการ ด้านการบริการผู้ป่วย และ ภารกิจ Regulator ซึ่งทิศทางการขับเคลื่อนงานของกลุ่มธัญญารักษ์ จะมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการและระบบบริการสุขภาพด้านยาเสพติด ให้สอดคล้องกับข้อมูลสถานการณ์ของพื้นที่ และนโยบายของประเทศตามแผน Quick win ในการจัดตั้ง 1 จังหวัด 1 “มินิธัญญารักษ์” และระบบการดูแลช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรง (SMI-V) รวมทั้งการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด