ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ชลน่าน" ยันขยายเวลาเปิดผับบาร์ตี 4 ได้ต้องอยู่บนพื้นฐานความพร้อม ทั้งโซนนิ่งชัด กลุ่มคนเข้าผับ ด้าน สคล.ย้ำต้องให้คนในพื้นที่ตัดสินใจ หนุนส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยมิติสุขภาพอื่น หากเดินหน้าจริง ต้องกองทุนเยียวยา เหตุกระทบคนส่วนใหญ่กว่า 70% ดึงวงจรน้ำเมาร่วมจ่ายทั้งหมด ประเดิมตั้งงบ 5 พัน - 1 หมื่นล.บาท 

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่สะพานข้ามแม่น้ำน่าน (ท่าน้ำบ้านป่ากล้วย) อ.เวียงสา จ.น่าน  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรัฐบาลมีนโยบายขยายเวลาเปิดผับ บาร์ถึงตี 4 ว่า เรื่องนี้น่านไม่กระทบเลย เพราะที่จังหวัดน่านมีลักษณะโซนนิ่งโดยธรรมชาติอยู่แล้ว และเขาให้ความสำคัญมากในเขตเมืองเก่าจะไม่มีสถานบันเทิงเลย ต้องอยู่นอกเขตเมืองเท่านั้น ขณะที่เขตเมืองก็จะมีโซนนิ่งชัดเจน มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ดังนั้นหากขยายเวลาเปิดจะไม่ได้รับผลกระทบแต่เราต้องหนักแน่นในมิติเชิงสุขภาพ 

เมื่อถามว่า แสดงว่าพร้อมที่จะขยายเวลาเปิดผับถึง 04.00 น ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ใช่ การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงต้องอยู่บนฐานความพร้อม คือ 1. กำหนดโซนนิ่งให้ชัด 2. ประเภทของคนที่จะเข้าสถานบันเทิงนั้นต้องมีความชัดเจน และ 3. มาตรการ ควบคุมป้องกันดูแลว่าจะทำอะไรบ้าง

 

ด้านนายวิษณุ ศรีทะวงษ์ ผู้จัดการแผนนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันตัดสิน เพราะอย่างจังหวัดน่านแม้จะเห็นสถิติในปี 2564 ว่า มีอัตราการดื่มสูงสุด แต่จริงๆ แล้วแนวโน้มการดื่มจากการณรงค์ตลอดช่วง 20 ปีมาถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ทำให้การดื่มของน่านสูงนั้นมี 2 ปัจจัยภายนอกสำคัญ คือ 1.น่านเป็นจุดหมายปลายทาง (Destination) ของการท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาว ทำให้ปริมาณการดื่มที่มาจากคนนอกที่ขนขึ้นไปกินตามดอยเยอะมากขึ้น และ 2.น่านเป็นเมืองชายแดน ตอนนี้เมืองฝั่งลาวเปิดเป็นเมืองพิเศษที่มีการลทุนจากจีน สินค้าจากน่านก็เอาแอลกอฮอล์ของเราเข้าไปฝั่งลาวด้วย ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมกับชาวน่าน จะต้องแยก 2 ส่วนนี้ออกจากกัน จากคนที่นำพาการดื่มเข้ามา ถ้าไปดูพฤติกรรมการดื่มของคนน่านและสถานบันเทิงทั้งในเมืองหรือต่างอำเภอ เราแทบไม่พบเลยว่า มีสถานบันเทิง 2-3 ทุ่มก็เงียบหมดแล้ว คนน่านส่วนใหญ่ไม่ค่อยใช้วิถีกลางคืนหรือเที่ยวกลางคืนมาก 

"ถ้าคึกคักหน่อยก็จะเป็นร้านหมูกระทะ การดื่มจะไม่เท่ากับการดื่มในเมืองใหญ่ๆ แต่พฤติกรรมการดื่มอาจมีนักท่องเที่ยวไปตามที่พักต่างๆ จะพบว่าหน้าหนาวเต็มทั้งซีซัน ปริมาณนี้จึงอาจทำให้การดื่มของคนเมืองน่านมันโอเวอร์สูงขึ้น จนรู้สึกว่ารณรงค์ได้ผลหรือไม่ได้ผล แต่จริงๆ ถ้าดูวิถีจากแข่งเรือก็เป็นตัวอย่าง เดิมจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสปอนเซอร์ ต่อมามีการลงประชามติ ในเขตเทศบาลนครน่าน ปรากฏว่า 98% เห็นด้วยกับการไม่ให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในงาน ทำให้เที่ยวงานได้สนุก ลูกหลานปลอดภัย จึงต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่ด้วย เครือข่ายเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้สนับสนุนนโยบายเปิดผับตี 4 เพราะปัญหาที่มีอยู่ปัจจุบันนี้มันหนักอยู่แล้ว จึงไม่ควรสร้างภาระเพิ่ม" นายวิษณุกล่าว 

ถามว่าอย่าง จ.น่านไม่ได้อยู่ในพื้นที่จัดโซนนิ่ง วิถีชีวิตก็แตกต่าง หากมีการขยายเวลาเปิดผับบาร์ตี 4 จะกระทบหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องแล้วแต่พี่น้องน่านว่าจะตัดสินใจจะมีหรือไม่มี แต่โดยวิถีปกติเช้าก็ต้องตื่นมาใส่บาตร ทำงาน มองว่าเป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันตัดสิน อะไรที่เสี่ยงก็ต้องลด ถ้าเสี่ยงแล้วเปลี่ยนไม่ได้ก็ต้องควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบ หรือไปไกลกว่านั้นต้องคิดถึงมาตรการควบคุมเยียวยา เพราะเสรีภาพใครๆ ก็ชอบ แต่เสรีภาพแล้วสร้างผลกระทบ เราต้องไปหาวิธีหรือจะทำกองทุนเยียวยาผู้รับผลกระทบเหล่านี้ หรือทำให้กิจกรรมท่องเที่ยวสร้างสรรค์มีมิติสุขภาพอื่น เพราะน่านนอกจากบรรยากาศดี มีมิติสุขภาพมาดูแลฟื้นฟูร่างกายไหม มีคอร์สเทรนนิ่งเรื่องดูแลสุขภาพไหม ก็เป็นทางเลือก ที่ไม่ได้มาน่านแล้วคิดว่าจะมาดื่มอย่างเดียว มีกิจกรรมสุขภาพมีกิจกรรมไลฟ์สไตล์อื่น เป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อยู่ที่คนน่านจะเลือกแบบไหน 

นายวิษณุ กล่าวว่า ภาพรวมทั้งประเทศก็เช่นกัน เพราะเรื่องเปิดผับตี 4 น่าจะกระทบคนส่วนใหญ่ มากกว่าร้อยละ 70 เป็นคนที่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คนที่ดื่มมีเพียงร้อยละ 28 เท่านั้น และก็ไม่ใช่คนที่ดื่มประจำ มีโอกาสเที่ยวในยามค่ำคืนไม่เยอะ ดังนั้น คนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องหรือแชร์รายได้จากการขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 จึงน้อยมาก แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือกระทบกับวิถีชีวิตปกติของคนส่วนใหญ่ ซึ่งหลายพื้นที่สถานประกอบการก็อยู่ในเมือง เช่น เชียงใหม่ ปกติตอนนี้เปิดถึงเวลา 02:00 น ก็แทบจะไม่ได้นอนอยู่แล้ว ดังนั้น เป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย อยากให้ทบทวนหรือใช้มาตรการเดิมซึ่งดีอยู่แล้ว หรือโฟกัสเฉพาะพื้นที่และควรมีมาตรการเชิงก้าวหน้า เช่น จัดตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ เพราะปัจจุบันมีเหยื่อหลายรายที่ไม่ได้รับการเยียวยา บางเคสเสียชีวิตเสียผู้นำครอบครัว เยียวยาแก้ครั้งเดียว 5,000 บาท เป็นก้อนสุดท้ายของชีวิต แล้วต้องทนทุกข์ไปตลอดชีวิต ดังนั้นหากจะให้มีนโยบายนี้ก็ต้องมีกองทุนเยียวยาและต้องเยียวยาไปตลอดชีวิต และรายได้ก็ต้องมาจากธุรกิจแอลกอฮอล์ถึงจะสะท้อน มูลค่าที่ผู้ประกอบการควรจ่าย ไม่เช่นนั้นก็จะมีแต่ผู้ที่เข้าสู่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่คิดว่ามีผลกระทบไม่คิดว่ามีต้นทุนที่ต้องจ่าย 

"การเก็บเงินเข้ากองทุนน่าจะอยู่ราวๆ 5 พันล้าน - 1 หมื่นล้านบาทต่อปี เพราะไม่ได้มีแค่ค่าชดเชยให้กับผู้พิการ ผู้ติดเตียง หรือคนที่เสียชีวิต แต่ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับการดูแล คือ คนที่อยากจะบำบัดสุรา วันนี้ สปสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังเกี่ยงกันอยู่เลยว่า ยาเลิกเหล้าต่อราย ประมาณ 1 แสนบาท นำเข้าจากต่างประเทศ ยังไม่มีกองทุนไหนเข้ามาสนับสนุน คนที่จ่ายควรจะเอาผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด ตั้งแต่ผู้ผลิตผู้จำหน่าย ผับ บาร์ ตามหลักการใครก่อให้เกิดผลกระทบคนนั้นก็ต้องจ่าย ผับเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ผู้ผลิตผู้ค้าก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่สัดส่วนจะเป็นอย่างไรต้องไปศึกษา" นายวิษณุกล่าว 

เมื่อถามถึงกรณีรัฐบาลระบุว่าอาจจะต้องจัดเป็นโซนนิ่งแยกออกจากพื้นที่ชุมชน  นายวิษณุ กล่าวว่า แยกยากมาก เช่น เชียงใหม่พื้นที่ในเมืองกับผับ แถวๆ ท่าแพ ย่านนั้นก็เต็มไปด้วยร้านค้า ของคนในพื้นที่ บางคนอยู่ใกล้วัด แล้วจะแยกอย่างไร นอกจากจะไปอยู่ห่างเมืองเลย ซึ่งก็ทำไม่ได้ในพื้นที่ภูเก็ต แล้วจะแยกแบบไหน ขณะนี้นอกจากจะพูดคุยกันเรื่องของการขยายเวลาเปิดผับแล้ว ยังมีการพูดถึงเรื่องของสุราเสรี ก็จะมีลักษณะแบบเดียวกันเปิด 24 ชั่วโมง เป็นแพ็คเกจด้วยกัน หลายจังหวัดเริ่มระดมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย เราอยากจะพัฒนากัน แต่ตอนนี้ก็เต็มที่แล้ว อยากจะหามาตรการเชิงก้าวหน้า มาตรการเยียวยาที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ 

"จริงๆ แล้วคนที่ทำงานเรื่องเหล้า ไม่ได้รู้สึกรังเกียจคนที่เป็นนักดื่ม เราไม่เคยรังเกียจเพราะบางครั้งคนใกล้ตัวก็ดื่มเหมือนกัน แต่สิ่งที่เรารังเกียจคือผลกระทบ จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเราเห็นคาตาอยู่ในสังคมแล้วไม่ได้ถูกจัดการ ราวกับว่าเรื่องนี้ไม่มีปัญหา เราเห็นเหยื่อที่ต้องเผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง ซึ่งคนเหล่านี้ควรจะมีสวัสดิการทางสังคม ควรจะมีระบบเข้าไปดูแลไม่ให้คนเหล่านี้ต้องกลายเป็นคนใช้ขอบ หรือกลายเป็นปัญหาใหม่ของสังคม ถ้าเรื่องนี้ถูกทำให้เกิดความสมดุล ผมคิดว่าสังคมก็ไปได้ อย่าทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง" นายวิษณุ กล่าว