ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมออนามัย จ.น่าน" เผย ถ่ายโอนรพ.สต.ไป อบจ. เป็นเวลา 1 ปีกว่า ภาพรวมค่อนข้างดี ชี้! แม้อยู่คนละสังกัด บุคลากรควรทำงานร่วมกันได้เพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุดและต้องทำงานแบบไร้รอยต่อ พร้อมชง “หมอชลน่าน” ยกระดับสถานบริการสุขภาพชุมชน (สสช.) ให้เป็นสถานีอนามัย

ตามที่มีการถ่ายโอนภารกิจรพ.สต. ไป อบจ. ภายใต้หลักการที่ว่า เมื่อถ่ายโอนภารกิจไปแล้วประชาชนต้องได้รับบริการด้านสาธารณสุขไม่ต่างไปจากเดิมหรือดีขึ้น และ บุคลากรสาธารณสุขที่ถ่ายโอนไป ต้องสมัครใจ โดยได้รับสิทธิสวัสดิการไม่น้อยกว่าเดิม ขณะเดียวกันต้องถ่ายโอนทรัพย์สินต่างๆไปด้วยเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ จ.น่าน ได้ถ่ายโอนฯ เป็นระยะเวลาปีกว่าๆแล้ว จึงเกิดคำถามว่าสถานการณ์ภาพรวมเป็นอย่างไรบ้าง...

ล่าสุด 31 ต.ค. 2566 นายนันทมิตร นันทะเสน ผอ.รพ.สต.สะเนียน อ.เมือง จ.น่าน ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ว่า  จากที่ถ่ายโอนฯ เป็นระยะเวลาปีกว่าๆแล้ว ตอนนี้ จ.น่าน มองว่าภาพรวมค่อนข้างดี แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องบุคลากร ที่ยังไม่เป็นไปตามกรอบโครงสร้าง แต่อย่างไรก็ตามเราก็แก้ปัญหาโดยการจ้างเหมาในบางอาชีพ  เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเข้ารับบริการของประชาชน และจังหวัดน่านมีหน่วยบริการปฐมภูมิทั้งหมด 147 แห่ง มีสสช. 23  แห่ง รพ.สต.123 แห่ง และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 1 แห่ง ซึ่งถ่ายโอนไปอบจ.น่าน 94 แห่ง และ 1 สอน. กับ 19 สสช. สังกัดอยู่ อบต. 3 แห่ง ส่วนที่เหลือ 26 รพ.สต. และอีก 4 สสช. สังกัดอยู่กระทรวงสาธารณสุข 

 

สับสน 5 หน่วยงานสังกัดสธ.ถ่ายโอนไม่ได้ แต่ก่อนหน้านี้อนุมัติแล้ว

แต่ทั้งนี้ก็ยังเกิดปัญหา เนื่องจาก 5 หน่วยงานไม่ได้อยู่ใน รพ.สต. ซึ่งในตอนแรกมีมติว่าต้องให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติ และเมื่อหลังจากที่อนุมัติมาแล้วปรากฏว่าบุคลากรมีจำนวนเยอะเกินคาด  แต่ปัญหาที่พบคือส่วนใหญ่บุคลากรที่เขียนประสงค์ถ่ายโอนมาจะเลือกหน่วยบริการตามที่ตนเองสะดวก เช่น อยู่ใกล้เมือง ส่วนชายขอบ ชายแดนต่างๆไม่ค่อยมีบุคลากรอยากไปมากนัก อย่าง “จังหวัดน่าน” ขณะนี้มีบุคลากรยื่นความจำนงถ่ายโอนมาในปีงบฯ 67 จำนวน 62 คน แต่เหลือ 61 คน ซึ่งบุคลากรกลุ่มนี้ได้มารายงานตัวที่ อบจ. เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 66 ตามมติคณะอนุกรรมการกระจายอำนาจฯ แล้ว

ในเวลาต่อมา เกิดปัญหาคือมีรายชื่อส่งมาเพียงแค่ 3 คน แต่บุคลากรกลุ่มนี้อยู่ที่รพ.สต. ทั้งหมดแล้ว แต่ส่วนมากบุคลากรจะอยู่เขตอำเภอเมือง บางคนเลือกตามเงินเดือน แต่บางคนเลือกเพื่ออยากอยู่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชน อยู่ใกล้บ้าน ใกล้ชุมชน เป็นต้น ฉะนั้นการจ้างบุคลากรมาแต่ละครั้งเพื่อมาเติมเต็มใน รพ.สต. อาจเกิดผลกระทบเรื่องงบประมาณบ้าง เพราะบางแห่งงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งงบประมาณที่ได้รับจาก สปสช. เบื้องต้นต้องมีการตกลงกันก่อน แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมยังถือว่าค่อนข้างดี

แม้ถ่ายโอนแต่ยึดหลักประโยชน์ต่อประชาชน

“หากถามว่าพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบหรือไม่” ต้องบอกว่า เราทำงานภายใต้ พรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ทำงานภายใต้พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2545 เรามี รพ.แม่ข่าย คือ โรงพยาบาลอำเภอ,โรงพยาบาลจังหวัด แต่เมื่อมาอยู่คนละสังกัด มองว่าถ้าบุคลากรทุกคนเข้าใจในการทำงานร่วมกันจะทำให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด เพราะเราต้องทำงานแบบไร้รอยต่อให้ได้ เรื่องนี้บางครั้งผู้ปฏิบัติอาจทำงานยากลำบาก เพราะอาจไม่เข้าใจกัน ฉะนั้นผู้บริหารต้องประชุมหรือพูดคุยกัน” นายนันทมิตร กล่าว

ชง “หมอชลน่าน”ยกระดับสถานบริการสุขภาพชุมชน เป็นสถานีอนามัย 

นายนันทมิตร กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง ซึ่งรู้ดีว่า เป็นการถ่ายโอน สอน./รพ.สต. แต่ยังมีอีกอย่างคือ สถานบริการสุขภาพชุมชน (สสช.) อย่างจังหวัดน่าน เรามี สสช. 19 แห่ง ซึ่งตามหลักจะอยู่ในสังกัด รพ.สต. มีการให้บริการเหมือนกับ รพ.สต. เลยด้วยซ้ำ แต่ก็ยังเกิดความกังวลเหมือนกันว่าเป็นของกระทรวงสาธารณสุข หรือ อบจ. ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน เรื่องนี้เราจึงมีการเสนอถึง “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ว่าแนวทางแก้ไขคือ ต้องยกระดับให้เป็นสถานีอนามัย เพื่อสามารถรับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงบฯได้ และให้บริการประชาชนได้เต็มที่กว่าเดิม