ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดขั้นตอนประกาศกฎกระทรวงฯ กำหนดถือครอง ‘ยาบ้า’ ไม่เกิน 5 เม็ดเป็นผู้เสพ ต้องรับฟังความคิดเห็นอาจ 1-2 เดือน  เตรียมเสนอครม.ขอขยายเวลาทำกฎหมายลูกตามพรบ.ฯ ฉบับแม่ กำหนดให้ออกกม.ลูกภายใน 2 ปี ซึ่งจะครบ 8 ธ.ค.66 คาดยังไม่ประกาศใช้สิ้นปีนี้ ส่วนความผิดถือครองมากกว่า 5 เม็ดโทษจำคุกหนักสุด 10 ปี

ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประชุมหารือการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษฯ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม  โดยมีมติเอกฉันท์กำหนดให้ถือครองยาเมทแอมเฟตามีน หรือ “ยาบ้า”  กำหนดไม่เกิน 5 เม็ด ให้สันนิษฐานว่า มีไว้เพื่อเสพ ต้องบำบัดรักษานั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : มติเอกฉันท์ สธ.และทุกภาคส่วนกำหนดถือครอง “ยาบ้า” เหลือ 5 เม็ด เป็นผู้เสพคือผู้ป่วย)

ความคืบหน้าวันที่ 4 พฤศจิกายน รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากนี้ตามกฎหมายจะมีการทำในส่วนของรับฟังความคิดเห็น ซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอน เช่น ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ก่อนจะนำมาประมวลผลอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นกฎหมายลูกที่ออกตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุข มาออกกฎหมายลูกภายใน 2 ปี แต่ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถออกได้ และกำลังจะครบระยะเวลา 2 ปี ตามที่กำหนด ในวันที่ 8 ธันวาคม 2566

“สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะต้องดำเดินการต่อจากนี้คือ เสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาขยายเวลาในการจัดทำกฎหมายลูกดังกล่าวออกไป ซึ่งยังไม่แน่ใจว่ากฎหมายกำหนดให้ขยายเวลาได้นานไหน ทั้งนี้ หากไม่ขอขยายเวลา และครบตามที่กำหนดแล้วกฎหมายลูกยังออกไม่ได้ แล้วเราไม่ขอขยายเวลา ก็จะทำให้ร่างกฎหมายลูกกำหนดจำนวนยาบ้า 5 เม็ดสันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ ต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ทั้งหมด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเสนอครม.เพื่อขอขยายเวลา”

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมดังกล่าวยังมีการหารือกันต่อถึงยาเสพติดให้โทษตัวอื่นๆ ด้วย ว่าจะกำหนดปริมาณที่จะสันนิษฐานมีไว้ในการครอบครองเพื่อเสพจำนวนเท่าใด  ซึ่งจะออกเป็นร่างกฎกระทรวงเดียวกันและเสนอ ครม.พร้อมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีดังกล่าวคิดว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ก่อนสิ้นปี 2566 ได้หรือไม่ รายงานแจ้งว่า ไม่น่าจะทันเดือนธันวาคมนี้

เปิดโทษความผิดถือครองมากกว่า 5 เม็ด

ด้านพล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผู้บังคับบัญชาตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวหลังประชุมร่วมกับสธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงกรณีความผิดของผู้ถือครองมากกว่า 5 เม็ด ว่า โดยหลักกฎหมายจะแบ่งความผิดเป็น 2 ประเภท คือ 1.ผิดเรื่องของเสพ จะเสพโดยตรงหรือครอบครองเพื่อเสพ และ 2.ความผิดร้ายแรง ได้แก่ ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครอง มีโทษเท่ากัน ดังนั้น ไม่ว่าครอบครองหรือจำหน่ายฐานโทษเท่ากัน ดังนั้น เมื่อเราแยกคนตรงนี้ก็เป็นวิธีการในการปราบปรามผู้กระทำผิดให้รับโทษตรงตามข้อหาและความหนักเบา ซึ่งหากมีไม่เกิน 5 เม็ด จะสันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ แต่ถ้าในการสืบสวนมีพฤติกรรมในการลักลอบจำหน่าย แม้จะครอบครอง 1 เม็ด ก็จะดำเนินคดีข้อหาจำหน่าย แต่มากกว่า 6 เม็ดขึ้นไปก็เป็นความผิดครอบครองยาเสพติดฐานหนึ่งแล้ว จะมีพฤติกรรมการค้าหรือไม่ ก็ต้องดูความจริงที่เกิดขึ้นว่าเป็นความผิดข้อหาไหน

ถามว่าหากพิสูจน์ว่าครอบครองน้อยกว่า 5 เม็ดและเป็นผู้เสพ ก็ไม่ต้องไม่รับโทษใช่หรือไม่  พล.ต.ท.คีรีศักดิ์กล่าวว่า ตัวกฎหมายต้องการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย และนำไปบำบัดรักษา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะจับไปแล้วจะไม่บำบัดรักษาก็จะมีกระบวนการรักษาด้วย

ถ้าไม่กำหนดจำนวนเม็ดยา ส่งผลการทำงาน ตร.ยากลำบาก

ถามว่าจะดูอย่างไรว่าครอบครองต่ำกว่า 5 เม็ดเพื่อเสพหรือมีพฤติกรรมขายด้วยในทางกฎหมาย  พล.ต.ท.คีรีศักดิ์กล่าวว่า สมัยก่อนยังไม่มีการกำหนดตัวนี้ ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดความยากลำบาก ในการดำเนินคดีกับผู้เสพผู้ใช้ต่างๆ เหล่านี้ เพราะเราไม่สามารถที่จะเอากฎหมายข้อไหนมาบังคับคดีกับเขาได้ เมื่อครอบครองยาบ้าแม้กระทั่ง 50 เม็ด แต่บอกเอาไว้เสพนานๆ หลายๆ วัน ตำรวจทำอะไรไม่ได้ก็ต้องส่งไปบำบัดรักษา

มีไม่เกิน 5 เม็ดเป็นผู้เสพแต่ต้องสมัครใจ

เมื่อถามว่ากรณีมีไม่เกิน 5 เม็ดเป็นผู้เสพ จะต้องเข้าบำบัดรักษาทันทีหรือตามสมัครใจ พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ กล่าวว่า ต้องสมัครใจด้วย เราก็ส่งบำบัดรักษา ถ้าไม่สมัครใจก็สามารถนำไปดำเนินคดีได้ในข้อหาครอบครองเพื่อเสพ คือ เสพมีโทษอยู่จำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่ศาลจะลงโทษหรือไม่ลงโทษหนักแค่ไหนก็ได้ไม่เกิน 1 ปี ก็อาจส่งไปบำบัดได้ แต่ถ้าเป็นการครอบครอง ผลิตนำเข้าส่งออกหรือจำหน่ายมีโทษตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปีก็ต้องรับโทษ